บาร์รักษ์โลก "ญี่ปุ่น" วัสดุรีไซเคิล 100%



ขอบคุณภาพจาก plainmagazine.com

 

บาร์รักษ์โลก “ญี่ปุ่น”

วัสดุรีไซเคิล 100%

 

บาร์รักษ์โลกแห่งนี้ ชื่อว่า Kamikatz Public House ตั้งอยู่ในเมือง Kamikatsu ประเทศญี่ปุ่น ห่างออกไปจากเมืองหลวงราว 530 กิโลเมตร เป็นเมืองที่เงียบสงบ และน่าค้นหาอีกแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น

Kamikatz Public House ใช้วัสดุก่อสร้างที่มาจากการรีไซเคิล 100 % จนได้รับรางวัลสิ่งก่อสร้างที่ยั่งยืนในปี 2016 (Wan Sustainable Buildings Award และ A Prestigious Architectural International Award)

 

บาร์แห่งนี้ออกแบบโดยนาย Hiroshi Hakamura สถาปนิกชื่อดังแห่ง NAP บริษัท สถาปัตย์ ที่มีผลงานและฝีมือด้านการออกแบบมาอย่างยาวนาน วัสดุรีไซเคิลทั้งหมดที่นำมาใช้ในการก่อสร้าง เช่น ใช้หนังสือพิมพ์ปูกำแพง, ตกแต่งภายนอกและภายในด้วยวัสดุเหลือจากตึกอื่นๆที่ไม่ใช้แล้ว, ปูกระเบื้องโดยใช้กระเบื้องเก่า, ด้านหน้าของร้านใช้วัสดุจากหน้าต่างที่เหลือใช้, และทำโคมไฟระย้าจากขวดแก้ว

 

 

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด Kamikatz Public House บาร์รักษ์โลกแห่งนี้ 

เมือง Kamikatsu มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะล้นเมือง จนต้องเร่งหามาตรการกำจัดขยะอย่างเร่งด่วน ระยะแรกๆต้องทุ่มเทงบประมาณเป็นจำนวนมากสำหรับจัดการปัญหา ด้วยการลงทุนสร้างเตาเผาขยะ ซึ่งก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ งบประมาณที่ใช้ในการจัดการเพิ่มขึ้นทุกปี จึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ศึกษาเรื่องรีไซเคิลและการจัดการขยะอย่างจริงจัง จึงพบว่าการจัดการขยะที่ดีที่สุดคือ การนำเศษขยะอาหารมาแปลงให้เป็นปุ๋ย และการรีไซเคิลนำสิ่งของเหลือใช้กลับมาใช้งานอีกครั้ง

           

เศษอาหารจากทุกๆบ้านจะถูกนำมาทำเป็นปุ๋ย เนื่องจากคนในเมือง Kamikatsu จะมีสวนหรือฟาร์มเป็นของตัวเองอยู่แล้วแทบทุกบ้าน การมีปุ๋ยใช้เองจึงเป็นการช่วยลดรายจ่ายของครัวเรือน ลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง ปุ๋ยจากเศษอาหารมีประสิทธิภาพอย่างดีทำให้พืชผักเจริญงอกงาม

 

ขณะที่ขยะอื่นๆ จะถูกนำมาแบ่งหมวดหมู่ออกเป็น 45 หมวด แล้วมีการรณรงค์ปลุกฝังค่านิยมให้คนในเมืองร่วมด้วยช่วยกันตระหนักในปัญหาขยะแล้วช่วยกันบริหารจัดการอย่างถูกวิธี โดยการขอความร่วมมือจากบ้านทุกบ้านให้นำขยะไปทิ้งที่โรงงานกำจัดขยะ ซึ่งโรงงานกำจัดขยะมีอยู่ในทุกๆชุมชน

 

กระบวนการดำเนินงาน อันนำมาซึ่งความสำเร็จนั้น ประกอบด้วย

            1. เมือง Kamikatsu อุดหนุนราคาเครื่องกำจัดขยะ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถซื้อได้ในราคาถูก (10,000 เยน หรือประมาณ 2,911 บาท) ทำให้ทุกบ้านสามารถมีไว้ใช้เองได้ ส่วนภาคอุตสาหกรรมและร้านอาหาร สามารถซื้อเครื่องกำจัดขยะได้ในราคาครึ่งหนึ่ง

            2. เพื่อที่จะลดการเผาขยะ ทุกๆบ้านจะต้องแยกขยะตามประเภทของขยะ และรวบรวมขยะรีไซเคิลเพื่อนำไปใช้ต่อไป

            3. เมือง Kamikatsu ไม่ใช้รถเก็บขยะ ดังนั้นทุกบ้านจึงต้องนำขยะไปทิ้งที่สถานีกำจัดขยะ Hibigatani Waste Station ในเมือง

            4. เมือง Kamikatsu มีแหล่งรวบรวมสิ่งของของรีไซเคิลชื่อว่า Kuru-Kuru Shop ซึ่งแปลว่าวงกลม ในที่นี้จึงสื่อความได้ว่าเป็นแหล่งสำหรับการหมุนเวียนสิ่งของ ของไม่ใช้แล้วจากบ้านหนึ่ง อาจเป็นของสำหรับอีกบ้านที่กำลังตามหา ชาวเมืองจึงสามารถนำสิ่งของที่เหลือใช้และยังใช้งานได้มาไว้ที่ร้านนี้ สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

            5. ในร้าน Kuru-Kuru ยังมีของรีไซเคิลจากผ้าต่างๆที่ถูกทำขึ้นมาโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านของผู้สูงอายุในเมือง โดยทางเมืองมีการดูแลผู้สูงอายุเหล่านี้เช่นกัน

            6. กระบวนการรีไซเคิลและกำจัดขยะทั้งหมดจะถูกนำไปสู่การเรียนการสอนให้กับเด็กๆ

ผลลัพธ์ที่ได้รับ ประกอบด้วย  

            1. ปี 2002 เมือง Kamikatsu เริ่มแยกขยะออกเป็น 34 หมวดหมู่ โดยมีพื้นฐานของคำว่า “Zero-Waste” เพื่อสร้างระบบขึ้นมา ต่อมาในปี 2003 คณะกรรมการเมือง Kamikatsu ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า เมือง Kamikatsu เป็นเมือง Zero Waste town แห่งแรกในประเทศญี่ปุ่น

            2. ชาวบ้านมีความตระหนักเรื่องปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจากการแยกขยะและรีไซเคิล

            3. เพิ่มอัตราการรีไซเคิลขยะด้วยการนำเศษขยะอาหารมาทำเป็นปุ๋ย จาก 54.8% ในปี 1998 เป็น  79.5% ในปี 2015

            4. ในปี 2016 ร้าน Kuru-Kuru Shop สามารถลดขยะในเมืองได้ 15 ตัน

            5. การลดขยะในเมือง ทำให้เกิดงานเทศกาลประจำปี 35 ครั้ง ในปี 2016 เกิดอาหารรีไซเคิลที่มาจากผลิตภัณฑ์พืชผัก ที่ใช้ปุ๋ยที่ทำจากเศษอาหาร ราว 6,452 จาน    

            6. ในปี 2015 ลดปริมาณขี้เถ้าและตะกอนได้ 61 ตัน

ปัจจุบัน เมือง Kamikatsu รีไซเคิลขยะได้ 80% และตั้งเป้าว่าจะสามารถรีไซเคิลขยะได้ 100% ในปี 2020 

 

 

กรณีศึกษานี้เห็นได้ชัดเจนมาก เพียงแค่ปรับเปลี่ยนวิธีคิด แล้วสร้างความตระหนักรู้ร่วมกัน การจัดการปัญหาขยะมีอยู่หลากหลายวิธี ทดลองทำเป็นโมเดลเล็กๆในชุมชนก่อน แล้วค่อยขยายไซต์ให้ใหญ่ขึ้น แค่เศษอาหารนำมาทำเป็นปุ๋ย ปลูกผักแปลงเล็กๆข้างบ้านก็คงทำให้มีความสุขไม่ใช่น้อย

 

อ้างอิง:

https://plainmagazine.com/kamikatz-public-house-japanese-bar-made-entirely-trash/

https://www.livingcircular.veolia.com/en/city/kamikatz-100-recycled-pub-japan

https://www.weforum.org/agenda/2017/11/this-japanese-pub-is-made-out-of-100-recycled-materials

https://www.boredpanda.com/zero-waste-bar-recycling-kamikatz-public-house-japan/?

utm_source=google&utm_medium=organic&utm_campaign=organic

http://www.clair.or.jp/e/bestpractice/docs/2017kamikatsu_e_r.pdf

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube