ถอดรูทหลักคิด “เอสเอ็มอี” 4.0 กล้า-ก้าว-ฝ่า ความเปลี่ยนแปลง


ถอดรูทหลักคิด “เอสเอ็มอี” 4.0

กล้า-ก้าว-ฝ่า ความเปลี่ยนแปลง

 

มีโอกาสร่วมงานสัมมนา “ทางเลือก-ทางรอด เอสเอ็มอี ยุค 4.0” จัดโดยนิตยสารเส้นทางเศรษฐี ของเครือมติชน ช่วงต้นของรายการมีปาถกถาพิเศษโดย “คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

คุณสนธิรัตน์ ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าเอสเอ็มอีไทยมีลักษณะเกิดง่าย ตายง่าย (เลิกกิจการ) โดยเฉลี่ยจะมีอายุราว 3-5 ปี ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพมีความแข็งแกร่งอยู่ในตัว การทำงานเองคนเดียวทุกอย่างกลายเป็นอุปสรรค์ของการเติบโต ควรที่จะรู้จักการกระจายงาน ขยายงานสร้างพันธมิตรทางธุรกิจให้มากขึ้น เพื่อเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืนของตนเองและของพันธมิตรด้วย

 

การก้าวสู่การเป็น Global SMEs หรือ เอสเอ็มอีระดับโลกแม้จะเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม เนื่องจากเทคโนโลยีมีความพร้อม เป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสได้ดี  ส่วนการสร้างความแข็งแกร่งของเอสเอ็มอี เพื่อให้อยู่รอด 2 แนวทางคือ

 

1.รายเล็กรวมตัวกันกลายเป็นรายใหญ่

คือการรวมตัวกันทำเพื่อแบ่งการทำงานเป็นส่วนๆตามความถนัด เพื่อความคล่องตัว ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกัน วิธีนี้จะช่วยให้เติบโตไปพร้อมๆกันอย่างมั่นคง  

 

2.รายเล็กรวมกับรายใหญ่

คือการใช้ศักยภาพและความถนัดของตนเป็นเดินเข้าไปหาผู้ประกอบการรายใหญ่ อาจในรูปแบบเสนอตัวเข้าไปทำในส่วนที่ถนัดที่สุด เพราะหากจะค่อยๆสร้างตัวเองขึ้นมาเพื่อไปแข่งขันเอสเอ็มอี ย่อมไม่สามารถแข่งขันได้ แปลงคู่แข่งให้เป็นคู่ค้า ก้าวไปพร้อมๆกันจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด

 

จากนั้นเป็นช่วงของการแบ่งปันและสร้างแรงบันดาลใจโดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตัวจริงเสียงจริง 4 ราย

เริ่มที่ “ป๋าเทพ โพธิ์งาม” ศิลปินตลกชื่อดังที่ผันตัวมาทำธุรกิจหลากหลาย เส้นกราฟธุรกิจของป๋าเทพแม้จะดูขึ้นๆลง (ลงเป็นส่วนใหญ่) แต่ด้วยความเป็นคนไม่ยอมแพ้ ทำธุรกิจแบบเล่นเองเจ็บเอง ทำให้มีบทเรียนมาแบ่งปัน ที่พอจับประเด็นได้หลายแง่มุมอยู่เหมือนกัน

ป๋าเทพ บอกเสมอว่าไม่คิดว่าตัวเองไม่ประสบความสำเร็จ โอกาสของความสำเร็จเกิดขึ้นได้เสมอตั้งแต่เริ่มคิด เพียงแต่ต้องรู้จักรอจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม สิ่งที่พลาดไปจะกลายเป็นบทเรียน เป็นฐานข้อมูลให้รู้ว่าต่อไปควรทำอย่างไรไม่ให้ซ้ำรอย ซึ่งตอนนี้ป๋าเทพ กำลังรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมนำเสนอสินค้าเครื่องดื่มน้ำข้าวโพด ซึ่งมีจุดเด่นคือการเติมเทคโนโลยีเข้าไป ทำให้น้ำข้าวโพดอยู่ได้ถึงหนึ่งเดือนดำเนินงานในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน โดยอาศัยประสบการณ์จากที่เคยเจ้ง มาคิดให้รอบคอบ มีหลักการมีหน่วยงานราชการและผู้รู้จากหลากหลายเข้ามาช่วยคิด

ก่อนลงเวที ป๋าเทพ ฝากแง่คิดชนิดที่คนฟังรู้สึกได้พลังไปตามๆกัน   

 

“แค่เริ่มคิดถือว่าได้ก้าวไปก่อนคนอื่นแล้ว อย่างน้อยหนึ่งก้าว การเจ็บตัวจากสิ่งที่ลงมือทำ อย่างน้อยก็ได้เรียนรู้”

 

 

คุณวุฒิชัย เจริญศุภกุล เจ้าของกิจการสลัดและผลไม้พร้อมรับประทาน Oh! Veggieผู้ประกอบการที่ลาออกจากงานประจำมาสร้างธุรกิจเป็นของตนเอง เขาบอกว่าเคล็ดลับในการสร้างธุรกิจ 4ข้อ คือ 1.มองธุรกิจที่มีโอกาส 2.การแข่งขันไม่รุนแรง 3.หาความแตกต่างให้เจอ 4.ใช้เงินลงทุนไม่มาก

 

คุณวุฒิชัย เริ่มมองธุรกิจจากเทรนรักสุขภาพกำลังมาแรง และการแข่งขันยังไม่รุนแรงมากนักใช้เงินเก็บหลังออกจากงานประจำเป็นทุนประเดิมเริ่มต้น ในช่วงแรกของกิจการก็มีอุปสรรค์อยู่บ้างแต่อาศัยการปรับตัวอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นข้อดีของเอสเอ็มอี จึงนำพากิจการให้ก้าวหน้าได้ ซึ่งทุกวันนี้สินค้า Oh! Veggie จึงเป็นที่นิยมของผู้รักสุขภาพมีขายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป

 

 

ชนิสา วงศ์ดีประสิทธิ เจ้าของธุรกิจธัญพืชไร้แป้ง “ไดมอนด์เกรนส์” เธอเริ่มคิดทำธุรกิจของตัวเองตั้งแต่ยังเรียนมหาวิทยาลัย ด้วยความชื่นชอบเรื่องอาหารการกิน ลองผิดลองถูกรับฟังคำติชมมาปรับปรุงจนสามารถสร้างสรรค์สินค้าอาหารเพื่อสุขภาพของคนรุ่นใหม่ มุมหนึ่งที่ทำให้ “ไดมอนด์เกรนส์” ประสบความสำเร็จคือการสื่อสารบนโลกออนไลน์ เธอบอกว่าตั้งแต่เริ่มทดลองทำผลิตภัณฑ์ พยายามให้เพื่อนๆช่วยติชมผ่านเฟสบุ๊ค พยายามใช้คำแนะนำนั้นมาปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา จนกลายเป็นวัฒนธรรมของ “ไดมอนด์เกรนส์” ที่มีคนติดตามมากถึงแปดแสนคน เป็นธุรกิจของคนรุ่นใหม่ที่มั่นคงอีกเจ้าหนึ่งที่น่าจับตามอง

 

 

ปิดท้ายที่ คุณชวพจน์ ชูหิรัญ หรือ เฮียนพหมูปิ้ง หมูปิ้งร้อยล้าน ใครจะไปเชื่อว่าหมูปิ้งริมทางจะสร้างกิจการให้เติบโตอย่างต่อเนื่องมูลค่าธุรกิจทะยานถึงหลักร้อยล้าน เฮียนพเผยเคล็ดวิชาอย่างไม่กั๊ก ว่า สำคัญต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องโปร่งใส หันหน้าเข้าหากฎหมายทำตามกฎหมาย แค่นี้ก็สนับสนุนให้มั่นคงแล้ว

 

เฮียนพ เผยมุมมองการบริหารกิจการจนประสบความสำเร็จมีหัวใจหลัก 6 ข้อ

1.ศึกษาข้อมูลให้ลึกรอบด้าน ไม่เชื่อตามกระแส (ต้องมั่นคงหนักแน่นพอ)

2.ต้องมีความรอบคอบก่อนตัดสินใจ ตั้งบนพื้นฐานจากการศึกษาข้อมูลตามข้อแรก

3.อย่าทำเพียงตลาดเดียว (ในข้อนี้คือการกระจายความเสี่ยง)

4.ต้องดูแลคนทำงาน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีให้สวัสดิการที่เหมาะสม (เราอยู่ได้เขาต้องอยู่รอด)

5.อย่าย่ำอยู่กับที่ต้องศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆอยู่เสมอ เพราะอย่างน้อยเทคโนโลยีจะกลายเป็นผู้ช่วยที่ดีได้ ถ้ารู้จักประยุคใช้ให้เป็น  

6.ต้องมีพันธมิตรด้านแหล่งเงินทุน   

 

วงจรธุรกิจมีสิ่งใหม่ๆมาท้าทายให้ได้เรียนรู้อยู่เสมอ เอสเอ็มอี ก็เช่นกัน การปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลง เติมความรู้อย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีอยู่รอด และยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง สิ่งหนึ่งที่พึงต้องถามใจ กล้าหรือไม่ ที่จะก้าวฝ่าความเปลี่ยนแปลง  

สู้ๆครับ เอสเอ็มอี 4.0 ทุกๆท่าน       

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube