โศกนาฏกรรมเขื่อนแตก…!!! “หม้อไฟแห่งอาเซียน” ซิไปต่อหรือสิพอสำนี่


โศกนาฏกรรมเขื่อนแตก…!!!

“หม้อไฟแห่งอาเซียน” ซิไปต่อหรือสิพอสำนี่

นับจากปี พ.ศ.2511 โครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำงึมเริ่มต้นขึ้น แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2515 ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลัก ส่วนที่เหลือส่งขายมายังฝั่งไทย พี่น้องชาวจังหวัดอุดร หนองคาย นครพนม มุกดาหาร ได้ใช้ไฟจากลาว เป็นกลุ่มแรกๆ

เพลง “สองฝั่งโขง” หรือ “สองฝั่งของ”  (“สาย...นทีรินหลั่งจากฟ้า แบ่งพสุธาเป็นซ้ายและขวา สองฝั่ง…”)

ขับร้องโดย “ทานตะวัน ราชาสัก” เขียนคำร้องโดย “สุลิวัต ลัดตะนะสะหวัน” เกิดขึ้นมาในระยะไล่เลี่ยกันนี้ ถือเป็นหลักฐานทางวัฒนธรรมพอให้ได้แกะรอยความแน่นแฟ้นได้อีกชิ้นหนึ่ง

เขื่อนน้ำงึมสร้างเสร็จในยุคที่ยังเป็นราชอาณาจักรลาว แต่เป็นการก่อเชื้อทางเศรษฐกิจเป็นอย่างดี ให้กับยุคหลังการเปลี่ยนแปลงประเทศสู่การเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว  

เขื่อนสร้างเสร็จ ไฟขายได้ กลายเป็นแสงสว่างดวงแรกๆของพี่น้อง สปป.ลาว ในการนำพาประเทศก้าวพ้นประเทศยากจนรั้งท้ายของอาเซียน

เขื่อนคือตำตอบ ขายไฟคือคำตอบ ที่จะนำพาประเทศหลุดพ้น จึงเป็นที่มาของการประกาศนโยบาย “หม้อไฟแห่งอาเซียน” หรือ Battery of ASEAN ใน 10 ปีต่อมา เนื่องจากค้นพบศักยภาพในตัวเอง แม้เป็นประเทศเล็กๆ ไม่มีทางออกทะเล  แต่มีลำน้ำหลายสาย ทั้งระยะทางสั้นๆ และระยะทางยาวๆ การทำเขื่อนเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ แหล่งทดน้ำ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขาย นำรายได้พัฒนาประเทศจึงเกิดขึ้นอย่างคึกคัก มีทั้งโครงการทั้งที่แล้วเสร็จ โครงการที่กำลังดำเนินการ โครงการที่อยู่ในแผนการดำเนินงานเป็นจำนวนมาก โดยภายในปี 2563 หากไม่มีปัญหาติดขัดใดๆ ลาวจะประกาศอย่างเป็นทางการว่ามีเขื่อนครบ 100 เขื่อน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในอาเซียน

สำนักข่าวลาว (Laos News Agency) ได้ทำรายงานระบุ ในปี พ.ศ.2560 ลาวมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ดำเนินการแล้วเสร็จถึง 46 แห่ง อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือวางแผนอีก 54 แห่ง โดยมีแผนให้แล้วเสร็จดำเนินการได้ครบ 100 แห่ง ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าได้ถึง 28,000 เมกะวัตต์ มากกว่าปัจจุบันเป็นเท่าตัว และไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งขายต่างประเทศ  ร้อยละ 85 แน่นอนว่าประเทศไทยคือลูกค้าหลักที่รับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว

นับจากจุดเริ่มที่ไทยซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนน้ำงึม จนถึงปัจจุบันประเทศไทยลงนาม ซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว แล้ว 5 ฉบับ  โดยฉบับแรก ลงนามเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2536 ซื้อไฟฟ้าจำนวน 1,500 เมกะวัตต์ ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2539 จำนวน 3,000 เมกะวัตต์ ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2549 จำนวน 5,000 เมกะวัตต์ ฉบับที่ 4 เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2550 จำนวน 7,000 เมกะวัตต์ และฉบับที่ 5 ปัจจุบัน เมื่อวันที่ 6 ก.ย.59 โดยพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (ขณะนั้น) ลงนามกับ ดร.คำมะนี อินทิราด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ในระหว่างการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 28-29 ณ นครเวียงจันทน์ สปป. ลาว ซื้อไฟฟ้าจำนวน 9,000 เมกะวัตต์

ตัวเลขการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงไม่แปลกที่ทางการลาว เดินหน้าสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า การก่อสร้างที่เร่งดำเนินงาน บริษัท รับเหมาก่อสร้างจากทั่วโลกต่างจับจ้องคว้าชิ้นปลามันกันเป็นแถว ผู้รับเหมารายใหญ่ของไทยก็หลายเจ้าที่ได้เซ็นต์สัญญาก่อสร้างเขื่อนในลาว

เหตุการณ์เขื่อนแตก เมื่อกลางดึกวันที่ 23 ก.ค. 61ที่ผ่านมา  ในบริเวณสันเขื่อนจุด D เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตั้งอยู่ในแขวงจำปาสักและอัตตะปือ ทางตะวันออกเฉียงใตั ของ สปป.ลาว ส่งผลให้มวลน้ำมหาศาลนับ 5,000 ล้านลูกมาศก์เมตร ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่อย่างรวดเร็ว ชวนให้เกิดการตั้งคำถามเร่งงานมากเกินไป ทำให้การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน เป็นหนึ่งในสาเหตุของเขื่อนแตกหรือไม่ อาจเร็วเกินไปที่จะสรุปสาเหตุ ณ ขณะนี้

แต่จับอาการที่ยังกรุ่นๆอยู่ของนาย “นายคำมะนี อินทิรัด” รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของ สปป.ลาว ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 ก.ค.2561 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ระบุว่าสาเหตุที่เขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขา ของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยพังลง มาจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน  ถือเป็นการส่งสัญญาณตรงไปยังผู้เกี่ยวข้องว่าหลังจากเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้วเสร็จ คงต้องมีอะไรคุยกัน ในเรื่องความรับผิดชอบ!!!

เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แตก!!!  เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ไม่ใช่ครั้งแรก ที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ มีข้อมูลย้อนหลัง การเกิดเขื่อนแตกสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินครั้งใหญ่อย่างน้อย 3 ครั้ง เท่าที่มีการบันทึก

ครั้งแรกเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ปี 2559 เกิดเหตุอุโมงค์ของเขื่อน 'เซกะมาน 3' แตก ทำให้มวลน้ำมหาศาลไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่บ้านดายรัง เมืองดากจึง แขวงเซกอง เขื่อนเซกะมาน 3 ก่อสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2557 โดยบริษัท Songda ของประเทศเวียดนาม มีกำลังการผลิต 250 เมกะวัตต์ โดยเขื่อนแตกในระหว่างการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 60 ที่เขื่อนน้ำอ้าว เมืองผาชัย แขวงเซียงขวาง ของบริษัท บ่อทอง อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด มีกำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์ แตกในขณะที่ดำเนินการก่อสร้างไปได้มากกว่าร้อยละ 80  ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง

และล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2561 เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เมื่อแล้วเสร็จจะมีกำลังผลิตที่ 410 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้า 1,804 กิกะวัตต์/ปี โดยจะขายไฟฟ้าให้ กฟผ.ของประเทศไทย ร้อยละ 90 และที่เหลือขายให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว  ผู้พัฒนาโครงการนี้ คือ บริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด เป็นการร่วมทุนของบริษัทข้ามชาติชั้นนำ 4 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท SK Engineering and Construction จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 26 บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 25 บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 25 และ Lao Holding State Enterprise ถือหุ้นร้อยละ 24 เงินลงทุน  22,000 ล้านบาท เป็นสินเชื่อร่วม (Syndication loan)ของสถาบันการเงินไทยชั้นนำ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารธนชาต

แน่นอนที่สุด บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นร้อยละ 25 ไม่อาจปฏิเสธได้ถึงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยวันที่ 25 ก.ค.61 บริษัทฯได้มอบเงินช่วยเหลือเป็นการบรรเทาทุกข์เบื้องต้นเป็นจำนวน 5 ล้านบาท พร้อมส่งเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเข้าไปมอบให้ผู้ประสบภัยผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี

แม้ความช่วยเหลือจากทั่วสารทิศเร่งระดมเข้าสู่พื้นที่ ผ่านหน่วยงานต่างๆ ผ่านเครือข่ายจิตอาสา จนผู้ส่งมอบความช่วยเหลือได้รับอุบัติเหตุจนเกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินก็ตาม แต่ทุกฝ่ายก็ไม่ย่อท้อ ต่างเร่งระดมความช่วยเหลือให้ถึงมือผู้ประสบภัยโดยเร็ว เพื่อซับน้ำตาผู้ประสบภัย ให้ฝันร้ายผ่านพ้นไปโดยเร็วที่สุด

เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นได้ทั้งอุทาหรณ์ เป็นทั้งสัญญาณเตือน โศกนาฏกรรมเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย คือตอนอวสาน หรือไร้ตอนอวสาน สำหรับการสร้างเขื่อนใน สปป.ลาว เป็นหนึ่งความท้าทาย “หม้อไฟแห่งอาเซียน” ซิไปต่อหรือพอสำนี่

 

 

หมายเหตุ : ขอบคุณภาพจากเพจ "เป็นเรื่อง เป็นลาว" , กฟผ.

อ้างอิง :

https://www.facebook.com/PhenluangPhenlao/

https://www.thairath.co.th/content/1343201

http://www.zanzaap.com/2016/09/aseanpowergrid161019-001/

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9610000074783

http://news.thaipbs.or.th/content/273589
บทความวิชาการ : ความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว WIN-WIN จริงหรือ โดย “แคทรียา ผ่านคุลี” ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube