จากท้องทุ่งสู่ผืนผ้า ย้อมด้วยดาวเรือง


จากท้องทุ่งสู่ผืนผ้า .... ย้อมด้วยดาวเรือง

อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย แลนด์มาร์คสำคัญที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติปักหมุดล่วงหน้า เพื่อมาเยือนอย่างน้อยปีละครั้ง โดยเฉพาะหน้าหนาวนอกจากจะได้สัมผัสความเย็นจับขั้วหัวใจแล้ว ยังจะได้สัมผัสความงดงามของไม้ดอกเมืองหนาวที่บานสะพรั่งเต็มแทบทุกพื้นที่ ราวกับได้มายืนอยู่ท่ามกลางอุทยานในความฝัน อาชีพของชาวภูเรือโดยส่วนใหญ่คือการเพาะกล้าไม้ดอกเมืองหนาวส่งขายทั่วประเทศ เป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมายาวนาน แต่ปัญหาคลาสสิคที่มักเกิดขึ้นคือลูกหลานบางรายไม่รับไม่ต่อช่วง  

 

“อุ๋ม” นฤดี ทองวัตร คนรุ่นใหม่ลูกหลานภูเรือ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งในการสานต่อในสิ่งที่ครอบครัวสร้างทำไว้ จนสามารถส่งเสียเธอเรียนในที่ดีๆ ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพฯ วันนี้เธอได้นำองค์ความรู้ที่มีอยู่ผสานเขากับประสบการณ์ชีวิต มาขับเคลื่อนธุรกิจของครอบครัวให้ไปต่อ แถมยังได้แตกแขนงธุรกิจใหม่ด้วยการนำเทคนิค “ย้อมผ้าจากดอกดาวเรือง” มาพัฒนาผลิตภัณฑ์พร้อมทำตลาดเองภายใต้แบรนด์ “ดีธรรมดา” แถมยังมุ่งมั่นสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ชาวชุมชนในนาม “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาวเรืองภูเรือ” เธอบอกว่าแรกเริ่มเดิมทีก็เคยใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ทั้งระหว่างเรียนและทำงานรวมแล้วก็ไม่น้อยกว่า 10 ปี ความอิ่มตัวและความวุ่นวายในเมืองใหญ่ เป็นมูลเหตุให้โหยหาความบริสุทธิ์ของอากาศที่บ้านเกิด ตลอดจนเป็นห่วงพ่อแม่ที่เรี่ยวแรงเริ่มโรยราไปตามกาล

 

อุ๋ม นฤดี ทองวัตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาวเรืองภูเรือ ย้อนความหลังถึงเส้นทางของเธอก่อนก้าวมาเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจว่า

“เรียนจบด้านวิทยาศาสตร์ แต่ได้ทำงานจริงๆ ไม่ตรงสายเสียทีเดียว ใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน จึงเริ่มทบทวนว่าจะยังไงต่อกับชีวิต จึงตัดสินใจกลับบ้านเมือปี 2553 กลับไปพร้อมกับประโยคคำถามสารพัดในใจว่าจะไปทำอะไร จะทำอะไรให้พ่อแม่ภูมิใจ ในภาวะว่างเปล่านั้นกินเวลากว่า 3 เดือน ที่ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ได้แค่ช่วยอะไรเล็กๆ น้อยๆ ในกิจการของครอบครัว

ก่อนเป็นวิสาหกิจชุมชนเริ่มจากการทำทุ่งดาวเรืองเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมาก่อน ซึ่งเราจะปลูกดาวเรืองหลายหมื่นต้นเป็นการต้อนรับนักท่องเที่ยว ดอกดาวเรืองบานต้อนรับนักท่องเที่ยวกินเวลาราว 1-2 เดือนในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หลังจากนั้นก็ต้องดัดดอกทิ้งจากดอกบานตลาดไม่รับซื้อ เกษตรกรชาวสวนดอกไม้ที่ภูเรือรายอื่นๆ ก็เช่นกัน เมื่อดอกเริ่มบานก็ต้องตัดดอก ตัดต้นทิ้ง ไม่สามารถนำดอกที่บานไปใช้อย่างอื่นได้เลย นั่นคือพอบานแล้วเท่ากับขาดทุน 100%

 

จากจุดนี้จึงมีแนวคิดการแปรรูปดอกดาวเรืองไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น จึงมาถึงค้นหาข้อมูลและงานวิจัยเกี่ยวกับดาวเรือง อย่างจริงจังและตัดสินใจเลือกการนำดอกดาวเรืองมาย้อมผ้า เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้เลย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก”

 

อุ๋ม ลงมือค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต เพื่อหาวิธีนำดอกดาวเรืองที่ตลาดไม่รับซื้อ มาสร้างมูลค่าแทนที่จะทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ที่สุดเธอได้พบข้อมูลงานวิจัยการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากดอดดาวเรืองของ ดร.อนงค์ ศรีโสภา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก จึงตัดสินใจโทรประสานของความช่วยเหลือการถ่ายทอดองค์ความรู้

“ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ได้รับความช่วยเหลือจากงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง ซึ่งได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านสีธรรมชาติ การมัดย้อม การตัดเย็บเสื้อผ้า มาให้ความรู้พร้อมทดลองทำจริง นอกจากนี้ยังมีทีมวิจัยจาก ดร.อนงค์ ศรีโสภา และทีมงานซึ่งทำวิจัยเรื่องสารสกัดในดอกดาวเรืองอยู่แล้ว ได้นำทีมลงมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผ่านมา 3 เดือน ปัจจุบันได้การตอบรับอย่างดีมาก เพราะตลาดผลิตภัณฑ์จากสี ธรรมชาติส่วนใหญ่จะมาจากคราม เมื่อเรานำดอกดาวเรืองมาเป็นสีย้อมธรรมชาติ จึงกลายเป็นความแปลกใหม่ที่เป็นทางเลือกให้แก่ผู้รักผลิตภัณฑ์จากสีธรรมชาติไปโดยปริยาย

ผลิตภัณฑ์จากสีธรรมชาติของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดอกดาวเรืองภูเรือ ถือว่ามีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี เริ่มมีผู้สนใจติดต่อเป็นตัวแทนจำหน่ายทั้งใน กทม.และภูเก็ต ขณะที่ช่องทางการขายหลักปัจจุบันใช้พื้นที่ออนไลน์ผ่านเฟสบุ๊ค “ดีธรรมดา by ทุ่งดาวเรืองภูเรือ” ในอนาคตจะพัฒนาเรื่องผ้าและสีให้มีคุณภาพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการนำพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ของจังหวัดเลย มาสกัดเป็นสีย้อมจากธรรมชาติให้มากขึ้น ในระยะเวลาอันใกล้นี้จะเริ่มทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดของดอกดาวเรืองให้มีความหลากหลายมากขึ้น ให้กลายเป็นของฝากพรีเมี่ยมของจังหวัดเลย”

 

เราเริ่มเห็นกรณีตัวอย่างตัวอย่างของคนรุ่นใหม่คืนถิ่น เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่แผ่นดินเกิดมากขึ้น พลังใหม่ที่คืนถิ่นไม่ใช่เพียงแค่กลับมาเพื่ออยู่กับครอบครัว สานต่อธุรกิจครอบครัวเท่านั้น แต่ยังมีแนวคิดสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมมีความพยายามที่จะนำองค์ความรู้มาแก้ปัญหาสังคมควบคู่ไปกับการสร้างงานสร้างอาชีพที่ยังยืน แต่จะสำเร็จหรือไม่ทุกฝ่ายต้องร้อยเรียงความหลากหลายให้กลายเป็นหนึ่งเดียว แล้วก้าวไปพร้อมกัน

 

 

เทคนิคการย้อม เบื้องต้น

- ต้มน้ำ10 ลิตร อุณหภูมิ 85-95 องศา (เอาแค่เกือบเดือด)

- เติมดาวเรืองถ้าดอกแห้งประมาณ 1 กก. (ถ้าใช้ดอกสดแกะดาวเรืองเอาเฉพาะส่วนกลีบใช้ประมาณ 2 กก.)

- ต้มเป็นเวลา 30 นาที แล้วเติมน้ำสารส้ม 500 กรัม (ละลายน้ำแล้ว)

- นำดอกดาวเรืองออกจากน้ำที่ต้ม

- นำผ้าที่เตรียมไว้ลงไปต้มย้อมเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที

- นำผ้าขึ้นตากให้แห้ง แล้วค่อยซักทำความสะอาดใช้งานต่อไป

 

 

ขอบคุณภาพ : คุณนฤดี ทองวัตร 

Please download and install pdf.js!

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube