หุ่นฟางนาอ้อ แลนด์มาร์คใหม่ ท่องเที่ยวชุมชนของชาวไทเลย


หุ่นฟางนาอ้อ แลนด์มาร์คใหม่

ท่องเที่ยวชุมชนของชาวไทเลย

บนแผนที่ท่องเที่ยวของหัวใจ หลายๆคนได้บรรจุชื่อจังหวัดเลย เมืองเล็กๆของภาคอีสานตอนบน ที่มีมนต์ขลัง เที่ยวได้ทั้งปี เซลฟี่ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ต่างวาดหวังว่าต้องมาเยือนเมืองแห่งนี้ให้ได้ เพียงครั้งก็ยังดี

และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ย้อนหลังไปสักประมาณ 5-6 ปี กระแสท่องเที่ยวชุมชนเก่าแก่ บูมสนั่น อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ทะยานติดชาร์ตยอดฮิตบนโลกโซเชียล นักท่องเที่ยวมาเยือนหลายแสนคน จนทะลุหลักล้านในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี

คำถามที่เกิดขึ้นตามมา หลังจากเกิดอาการเซถลาด้วยคลื่นนักท่องเที่ยวแห่เข้ามา เมืองที่เคยเงียบสงบกลับคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว แสงสียามราตรี ร้านรวงริมทาง เรียงรายกันสุดลูกหูลูกตา บ้างก็ว่าชาวชุมชนได้ประโยชน์จริงเหรอ บ้างก็ว่าเชียงคานกลายเป็นแหล่งขุนทองของนายทุนจากต่างถิ่น

แต่หากชั่งน้ำหนักจริงๆ โดยไม่อิงจากงานวิจัย ผมกลับมองว่าอย่างชาวชุมชนก็ได้ประโยชน์ ในฐานะศิษย์เก่านิเทศศาสตร์ราชภัฏเลย มองความเปลี่ยนแปลงผ่านจิตวิญญาณของสื่อมวลชน กลับพบว่ามีรุ่นพี่ รุ่นน้องหลายคน ที่เคยพาชีวิตออกมาผจญภัยในเมืองใหญ่ ต่างพากันกลับบ้านไปทำกิจการเล็กๆ กลายเป็นเถ่าแก่น้อย เถ่าแก่ใหญ่ หรือจะเรียกให้โก้คือ Start up. เศรษฐกิจเม็ดใหม่ที่เกิดจากการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งตกที่ชาวชุมชน

เมื่อนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเชียงคานมากขึ้นๆ จนเกิดอาการล้น มนต์ขลังของเชียงคานอาจลดน้อยถอยลง

นั่นจึงเป็นชนวนหนึ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องร่วมกันคิดต่อว่า จะเอาอย่าไรดี เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจชุมชนเม็ดใหม่ ให้คนในชุมชนมีรายได้เช่นเดียวกันกับเชียงคานโมเดล

จึงเป็นที่มาของการสร้างแลนด์มาร์คท่องเที่ยวชุมชนแห่งใหม่ ด้วยปฏิมากรรมหุ่นฟางจากต่อซังข้าว ที่ตำบลนาอ้อ จังหวัดเลย ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองราวสิบกว่ากิโลฯ เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างตัวเมืองไปยังอำเภอเชียงคาน ที่ระยะนี้จะเห็นการแชร์ต่อกันบนโลกออนไลน์จำนวนมาก ถือเป็นการเปิดตัวการท่องเที่ยวชุมชนได้เป็นอย่างดี

 

คุณธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย (อพท.5) เล่าให้ฟังว่า

“จุดเริ่มของการสร้างประติมากรรมหุ่นฟาง คือการพุดคุยกันกับทุกภาคส่วนในจังหวัดเลย เราเห็นร่วมกันว่า ควรสร้างอะไรที่เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นทั้งแลนด์มาร์คแห่งใหม่ เป็นทั้งการกระจายจำนวนนักท่องเที่ยว ที่เริ่มล้นในเชียงคาน จึงเห็นร่วมกันว่า ที่ชุมชนนาอ้อ เป็นแหล่งวัฒนธรรมไทเลย เสมือนเป็นต้นแบบชุมชนไทเลย ที่มีอายุกว่า 100 ปี ศิลปะอาคารบ้านเรือนของชาวชุมชน ยังคงความงดงาม วิถีชีวิตของชาวบ้านยังคงเรียบง่ายน่าสัมผัส ที่เทศบาลตำบลนาอ้อ วัดศรีจันทร์ บ้านนาอ้อ มีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเรื่องราว ชาวไทเลยจัดแสดง ถือเป็นต้นทุนชุมชนที่แข็งแกร่ง

จากนั้นจึงได้นำไอเดียจากการศึกษาดูงานประเทศญี่ปุ่น เขามีกลุ่มนักศึกษาทำหุ่นฟางจากตอซังข้าว เป็นกิจกรรมของนักศึกษาที่ว่างเว้นจากช่วงการเรียน เขาออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน ได้ทั้งการเป็นพื้นที่โชว์ไอเดีย ได้ทั้งพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของนักศึกษา จึงนำไอเดียนั้นมาปรับใช้ ซึ่งได้มีการประสานไปยังช่างทำหุ่นฟางจากจังหวัดชัยนาท ที่มีประสบการณ์การทำหุ่นฟางมาอย่างยาวนานมาเป็นผู้สร้างหุ่นฟางขึ้นมา โดยให้ชาวบ้านในชุมชนมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อให้ได้รู้ขั้นตอนการทำ ในปีต่อๆไปจะได้ทำเองได้”

ที่สุดแล้วเวลาเพียง สองสัปดาห์ก็สามารถเนรมิตชายทุ่งท้ายหมู่บ้านให้เป็นที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ด้วยประติมากรรมหุ่นฟาง เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561หุ่นฟางแต่ละตัวล้วนมีความหมาย มีเรื่องเล่าผ่านหุ่นต่างๆ เช่น หุ่นฟางช้าง นั้นหมายความถึงการน้อมลำลึกถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งทรงเสด็จเยือนจังหวัดเลย (ภูกระดึง) เมื่อปี พ.ศ.2498 เหลาพสกนิกรชาวจังหวัดเลยใช้ช้างเป็นพาหะนะรับเสด็จ

พญานาค เป็นไปตามคติความเชื่อของชาวลุ่มน้ำโขง ที่บูชาพญานาค ที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนามากมาย

ปลา ก็เปรียบเสมือนความอุดมสมบูรณ์ ของจังหวัดเลย ที่มีแม่น้ำเลย และแม่น้ำโขง ไหลผ่าน

ดร.พรหมพงษ์ มหพรพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ซึ่งผมก็เป็นลูกศิษย์ของท่าน ในฐานะคีย์แมนคนสำคัญในการประสานกับชาวชุมชน เล่าเบื้องหลังการทำงานในครั้งนี้ว่า

“หลังจากที่มีการปรึกษาหารือกันในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการเป็นที่ปรึกษาใหญ่ มีอพท.5 ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนในจังหวัดเห็นร่วมกัน จึงได้ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้นำชุมชน เพื่อทำความเข้าใจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ถือว่าทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยดีมีพลัง จึงเกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นและมีผู้ให้ความสนใจจำนวนมากภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

ผลพวงที่ได้จากการเกิดแหล่งท่องเที่ยวชุมชนคือ เกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลายรูปแบบ ที่เห็นได้ชัดคือการจัดการที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น การใช้พื้นที่วัดเป็นลานจอดรถ ผู้มาเยือนก็ให้ค่าบำรุงวัดไป และเมื่อลงรถก็จะได้ชมพิพิธภัณฑ์ไทเลย ที่จัดแสดงภายในวัดได้ศึกษาความเป็นมาของชาวไทเลย

หากยังมีแรงเหลือก็เดินต่อไปเรื่อยๆ ผู้มาเยือนจะพบเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน มีร้านค้าชุมชนนำผลิตภัณฑ์จากชุมชนออกมาวางขาย จะได้เห็นบ้านเรือนที่บางหลังมีอายุนับร้อยๆปี สัมผัสกับสำเนียงไทเลยที่ทักทายด้วยน้ำเสียงนุ่นนวลมีเอกลักษณ์

เดินๆ แล้วเหนื่อย ก็สามารถเช่าจักยานของชาวบ้านปั่นเที่ยวรอบหมู่บ้าน หรือใช้บริการรถซาเล้ง เป็นการกระจายรายได้ให้แก่ชาวชุมชนอย่างทั่วถึง และช่วงระหว่างวันที่ 20-26 มกราคม 2560 ที่นาอ้อมีเทศกาลบุญข้าวจี่ หากมาเที่ยวในช่วงนี้ก็จะได้ชมทั้งหุ่นฟาง และได้เที่ยวงานบุญ กินข้าวจี่ผ่อนความหนาว คลายความหิวได้เป็นอย่างดี”

ดร.พรหมพงษ์ ยังบอกอีกว่า

“การจุดประกายดังกล่าวก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เชื่อได้ว่าการจัดการท่องเที่ยวชุมชนจะสามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยตัวเอง นาอ้อมีเสน่ห์ทุกฤดูกาล เมื่อพ้นหน้าแลงชาวบ้านจะลงทำนา หุ่นฟางก็จะถูกเก็บลง ชาวบ้านก็ปลูกข้าวต่อ ข้าวงอกงามสีเขียวเต็มทุ่ง สายลมโชยอ่อนๆลูบไล้ใบข้าว ก็จะได้ภาพที่สวยงามเย็นตาสบายใจไปอีกแบบ เมื่อยามที่ข้าวออกรวงสีทองอร่าม สลับสีกับก้อนเมฆก็ยิ่งงามตา นี่คือมนต์เสน่ห์นาอ้อที่สามารถเที่ยวได้ทั้งปี เป็นประกายไอเดียโดยไม่มีที่สิ้นสุด”

เหมือนท่านอาจารย์บอกเป็นนัยๆว่า ความมั่นคงยั่งยืนของชาวชุมชนย่อมเกิดขึ้นจริง บางสิ่งบางอย่างที่ก่อตัวเป็นหัวเชื้อไว้ ยังรอลูกหลานชาวชุมชนมาสานต่อ

อ้อ!!!

ที่สำคัญอาจารย์ท่านบอกว่า

จักรยานเช่าปั่นยังมีน้อย ร้านกาแฟไอเดียไหมๆก็ยังไม่มี

แต่ที่มีอยู่ทั่วไปคือวิวสวย ไวไฟค่อนข้างแรง

แช๊ะแชร์ สบายเชียวละ

 

หมายเหตุ : ขอบคุณภาพจาก FB เที่ยวเลย ,อาจารย์พรหมพงษ์ หมพรพงษ์ ,Nam Cuntee

Please download and install pdf.js!

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube