ไปกันเป็นพวง บินไปเป็นฝูง หัวใจสร้างเศรษฐกิจชุมชน


“เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนไปได้ไม่ถึงไหน คือขาดที่ปรึกษาที่ดี ขาดองค์ความรู้ ขาดเรื่องการตลาด และที่หนักไปกว่านั้นคือ ไม่รู้จะเริ่มจากจุดไหน...”

เสียงสะท้อนจากผู้นำชุมชนท่านหนึ่ง เปิดประเด็นลงในวงแลกเปลี่ยนระหว่างการรับฟังบรรยาย “ชนบทใหม่ไทยแลนด์ 4.0 การประกอบกิจการและการสร้างเศรษฐกิจในระดับชุมชน / ท้องถิ่น” โดย ดร.สุนทร คุณชัยมัง ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเพื่อริเริ่มธุรกิจเพื่อสังคม-ประเทศไทย (Thailand Social Business Initiatives : TSBI) บินตรงมาจากกรุงเทพฯ เพื่อมาบรรยายให้ความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ตามเทียบคำเชิญของ ดร.วิญญู สะตะ ผู้อำนวยการสำนักกิจการสาขาภูมิภาคที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2560 ณ ห้องประชุมสุลัดดา สถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มข.

ดร.วิญญู สะตะ ในฐานะผู้ใกล้ชิดชุมชน ใกล้ชิดชาวบ้านแม่งานของวันนั้น กล่าวเกริ่นก่อนเข้ารายการแบบง่ายๆ เว้ากันปะสาซื่อๆ ว่า “ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่นจำนวนมาก มีความมุ่งหวังที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี อยากเห็นความเข้มแข็ง ยืนบนลำแข้งได้มั่นคงอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า ณ จุดนี้ สิ่งที่มีคือหัวใจ แต่สิ่งที่ขาดไปคือไอเดีย และองค์ความรู้ที่จะขับเคลื่อนให้ไปในทิศทางที่ใช่ มากกว่าที่เป็นอยู่ จึงได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาเติมความรู้ ถ่ายทอดมุมมองใหม่ๆ เพื่อปูทางไปสู่ความสำเร็จให้ได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เราจะไปถึงจุดนั้น...”  

การเกริ่นนำของ ดร.วิญญู ค่อนข้างสอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้นำชุมชน ที่ได้เปิดประเด็นแลกเปลี่ยนขึ้นมาระหว่างช่วงกลางของการบรรยาย ผมเสมือนว่าเป็นการตั้งคำถามเชิงประเด็น เพื่อไปสู่การขอข้อเสนอแนะว่า ควรทำอย่างไร

“ซิโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง - ต่าย อรทัย - บัวขาว บัญชาเมฆ” เป็นกรณีตัวอย่างบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ที่ถูกหยิบยกมาอธิบาย โดย ดร.สุนทร สื่อความว่านี้คือตัวแทนของความสำเร็จที่เกิดจากพลังบวกจากสิ่งที่แวดล้อมอยู่ ใช่ว่าจะมาจากตัวตนของเขาเหล่านั้นแบบเพียวๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าต้นทุนทางความสามารถที่มีอยู่ก่อนคือต้นทางแห่งความสำเร็จ

อย่างกรณี ซิโก้ นั้น การที่ก้าวมายังจุดนี้ได้นั้นเกิดจากความสามารถ บวกกับปัจจัยแวดล้อม การได้โอกาสที่ดีได้โชว์ศักยภาพอย่างเต็มตัว มีสมาคมเป็นเครื่องมือส่งทางไปยืนบนโพเดียมอย่างสง่างาม ไม่แปลกในวันที่เขากล่าวอำลาตำแหน่ง เขาเอ่ยชื่อบุคคลต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้เขามาได้ถึงจุดนี้

ซิโก้ เพียงคนเดียว ก็ไปไม่ได้ แต่จุดที่อยากให้สังเกตคือ นี่เป็นความสำเร็จร่วมจากการสานพลัง เป็นตัวแปร ความสำเร็จของซิโก้ จึงเป็นความสำเร็จที่ได้ด้วยกันเป็นฝูง ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับ ต่าย อรทัย และบัวขาว ความสำเร็จที่เกิดขึ้นคือความสำเร็จที่เกิดขึ้นทั้งฝูง

ประเด็นนี้คือ การดำเนินกิจการใด กิจกรรมใดๆ เพื่อเกิดความสำเร็จนั้น ต้องมีกระบวนการทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วนโดยอาศัยจุดแข็ง ที่มีอยู่ในแต่ละด้าน หาจุดเชื่อมประสานกันให้เจอจูนกันให้ติด แล้วลงมือทำอย่างต่อเนื่อง

ดร.สุนทร ได้ยกกรณีดังกล่าวอธิบายความสำเร็จของวิสาหกิจเพื่อสังคม ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและอเมริกา ซึ่งล้วนเกิดจากการทำงานหลายภาคส่วนนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน องค์กรไม่แสวงผลกำไร มหาวิทยาลัย สาขาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจ เป็นต้น (ดูตัวอย่างจากสไลต์)

กับคำถามที่ว่าจะทำอย่างไร ไปต่ออย่างไร เริ่มอย่างไร

ดร.สุนทร ได้ยกตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นที่สามารถจับต้องได้ หลายตัวอย่างในที่นี้ จะเล่าถึง กรณี “ไร่ลองเลย”ที่จังหวัดเลย ซึ่งเกิดขึ้นจากฝีมือของคนรุ่นใหม่ ปัจจุบันได้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้สามารถเข้าไปศึกษาดูงานได้ ณ บ้านนาปอ หมู่ที่ 4 ต.แสงภา อ.นาแห้ว จ.เลย

ไร่ลองเลย แต่เดิมเป็นพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว (ข้าวโพด) มีรายได้ตามฤดูกาล ดินมีแนวโน้มเสื่อมสภาพ เนื่องจากการใช้สารเคมี แต่ความเปลี่ยนแปลงในวันนี้เกิดขึ้นจากคนรุ่นใหม่ที่ชื่อ “สุรีรัตน์ สิงห์รักษ์” ซึ่งเป็นนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ของสมเด็จพระเทพฯ หลังเรียนจบเธอทำงานใช้ทุนอยู่ 4 ปี แล้วลาออกกลับมาบ้านเกิดเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

สุรีรัตน์ ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงวิถีเดิมเพื่อสร้างผลลัพธ์ใหม่ เริ่มจากปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นการปลูกพืชยืนต้น ปลูกไม้ผล ตามแนวทางทฤษฎีใหม่ ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เธอนำมะคาเดเมียมาปลูก เมื่อผลผลิตออกมาก็ส่งขายที่ร้านค้าของโครงการหลวง นอกจากนี้ก็ปลูกมะขามป้อม เป็นพืชสมุนไพร ปลูกสตอเบอรี่ ปลูกกล้วย ทำให้มีรายได้หมุนเวียนทั้งปี เมื่อความสำเร็จจากการเปลี่ยนชนิดพืช ก็มีการต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

 

ถึงจุดนี้ ผมสังเกตเห็นถึงพลังบางอย่างของผู้นำ เห็นประกายแห่งความหวังเกิดขึ้น ค่อยๆคิดตาม และมีการแลกเปลี่ยนเป็นระยะๆ นำมาสู่ข้อเสนอแนะอันเป็นไฮไลท์ของงาน ดร.สุนทร กล่าวว่า

เรื่องการสร้างมิติทางเศรษฐกิจชุมชนให้แข็งแกร่ง ที่สำคัญคือต้องหาฝูงให้เจอ - จูนกันให้ติด และให้เช็คทุน 3 ก้อน คือ ทุนการรวมกลุ่มของชุมชน ทุนความรู้และความคิดสร้างสรรค์ และทุนสนับสนุนจากภายนอก เมื่อเห็นความพร้อมแล้ว ค่อยหาวิธีสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการลงมือทำ สร้างจากสิ่งที่เป็นจะมีพลังกว่าสิ่งที่เห็นแล้วคิดว่าเราเป็น

นอกจากนี้ หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคือการ “นำลูกหลานกลับมา ร่วมสร้างมิติใหม่” เพราะจากความสำเร็จในกรณีศึกษาต่างๆ ที่หยิบมาเล่านั้น ค่าความหมายของความสำเร็จเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ แทบทั้งสิ้น คนรุ่นใหม่เชี่ยวชาญเรื่องการใช้สื่อโซเชียว คนรุ่นเก่าเก่งเรื่ององค์ความรู้ภูมิปัญญา ถ้าผนวกเข้ากันได้ความสำเร็จก็ไม่ไกล ไปกันเป็นพวง บินไปเป็นฝูง”

สุดท้าย ดร.สุนทร กล่าวให้แง่คิดว่า
“ผ้า อาหาร ดนตรี 3 อย่างเป็นจุดแข็งที่มีอยู่โดยธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนาน เป็นต้นทุนที่ได้ชัยชนะมาจากวัฒนธรรม หากถามว่าผ้าขาวม้าที่ไหนไม่มี อาหารอีสานที่ไหนไม่มี ดนตรีอีสานที่ไหนไม่มี คำตอบคือหายากมาก...จุดแข็งที่มีโดยธรรมชาติ คือมูลค่ามหาสารที่รอการต่อยอด รุ่นเราอาจทำไม่ไหว ก็ลองเฟ้นหาลูกหลาน มาร่วมสานต่อ เพื่อความสำเร็จของชุมชน”

พี่น้องหมู่เฮา เห็นมุมมองใหม่แล้ว ช่วยกันประสานพลัง สร้างฝูงบินใหม่ให้เศรษฐกิจชุมชน ไปต่อร่วมกันให้ได้

ไหวเน๊าะ พี่น้อง…!!!!

 

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube