“นายแพทย์สิริชัย นามทรรศนีย์” ยอดคุณหมอ พ่อพระผู้พิการ


มีโอกาสร่วมงาน “สานพลังสู่มิติใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพคนพิการ 10,000 อัตรา”เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2559 ณ ห้องประชุม ศ.สังเวียน อินทรชัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมและภาคีเครือข่าย 20 องค์กร ภาคเอกชนกว่า 200 บริษัท แม่งานหลักภาครัฐโดยกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป้าหมายของปี 2559 คือขับเคลื่อนให้เกิดการจ้างงานผู้พิการ 10,000 คนเป็นอย่างน้อย คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 1,000 ล้านบาท

 

จบงาน!!! ไม่ใช่แค่เพียงทุกคนมีรอยยิ้มอันเปี่ยมด้วยพลัง

แต่นี้คือความหวังของผู้พิการทั้งประเทศ

ที่อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกได้ว่าเขาจะไม่ถูกทอดทิ้งให้เดียวดาย เช่นเดิมเดิมอีกต่อไป    

 

 

“คุณหมอจะฟื้นฟูผมไปทำไม เพราะสุดท้ายก็ยังต้องเป็นภาระของครอบครัวอยู่ดี...???”

นายแพทย์สิริชัย นามทรรศนีย์ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดประเด็นด้วยคำพูดง่ายๆที่ฟังแล้วอึ้งกันทั้งห้องประชุม สะท้อนแทนความรู้สึกผู้พิการได้อย่างลึกซึ้ง และค่อยๆแบ่งปันประสบการณ์ฟื้นฟูผู้พิการจนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ   

“ผมใกล้ชิดกับชาวบ้านแทบทุกชุมชน อำเภอกุฉินารายณ์มีผู้พิการราว 1,300 คน แต่เข้ามารับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพียง 200 คน แล้วที่เหลือเขาไปอยู่ไหน...? จากการลงพื้นที่จึงพบว่าผู้พิการเหล่านั้น ก็อยู่บ้านเฉยๆ ในรายที่พอจะช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น กินข้าว เข้าห้องน้ำ ก็ดีไป แต่บางรายต้องขอเรียกว่า อยู่ไปวันๆ รอวันสุดท้ายของลมหายใจมาถึง”

 

หมอสิริชัย ที่วันนี้กลายเป็นคุณหมอผู้เป็นพ่อพระของผู้พิการไปแล้ว เล่าการทำงานด้านการฟื้นฟูคนพิการว่า

“แรกๆ ก็เพียงแต่ช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน ดูแลรักษาตามอาการ คอยกำกับการรักษาอย่างใกล้ชิด แต่ด้วยความที่เป็นหมอในพื้นที่ชนบท เวลาเดินตลาดซื้อกับข้าว ก็เท่ากับเยี่ยมประชาชนไปในตัว พอได้เจอผู้พิการ ได้พูดคุยรับรู้ปัญหา รับทราบความต้องการ คำพูดหลายคำของผู้พิการทำให้ต้องกลับมาคิดว่า ต้องหาทางช่วยเหลือเขาเหล่านั้นอย่างไร เพื่อให้เป็นมากกว่าการฟื้นฟูร่างกาย แต่ต้องเป็นการฟื้นฟูชีวิตของเขาให้ยืนหยัดอยู่ได้ในสังคม”

 

หมอสิริชัย ลงพื้นที่เพื่อดูแลคนพิการในนามกลุ่มไม้เลื้อย ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูผู้พิการในทุกมิติ ทั้งด้านการฟื้นฟูร่างกาย ด้านการศึกษา ส่งเสริมอาชีพ ในที่สุดก็สามารถพลิก น้ำตาแห่งความสิ้นหวัง กลายเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมได้อย่างทรงพลานุภาพ

 

“ผมมีผู้พิการที่เป็นแบบอย่างอยู่หลายราย แต่วันนี้ขอยกตัวอย่างพี่สังทอง สารสิน ซึ่งได้รับการฟื้นฟูและส่งเสริมอาชีพตามทักษะความสามารถ เราส่งเสริมอาชีพตามความถนัดพี่สังทอง มีความสนใจในการฝึกอาชีพช่างซ่อมอิเล็กทรอนิกส์ เราก็ให้การสนับสนุนเต็มที่ เมื่อฝึกอาชีพจบคอสก็ให้โอกาสได้มีงานทำตามศักยภาพ

 

ตอนนี้พี่สังทอง มีตำแหน่งผู้ช่วยช่างประจำโรงพยาบาล พวกเราเรียกกันติดปากว่า “นายช่างสังทอง” พี่สังทองคือเป็นผู้มีความตั้งใจ มีความใจเย็น อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชิ้น เขาสามารถซ่อมได้ แก้ไขได้หมด จากเดิมที่เป็นผู้พิการนั่งรถเข็ญอยู่ที่บ้าน ช่วยเหลือตัวเองได้แค่พอกินข้าว เข้าห้องน้ำเองได้ แต่ทุกวันนี้เมื่อได้รับการฟื้นฟูอย่างถูกวิธี ให้โอกาสเขาได้ฝึกอาชีพเขากลายเป็นเสาหลักของครอบครัว จากการได้รับเงินเดือน และรายได้จากที่เพื่อนบ้านนำเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆมาให้ช่วยซ่อม ทุกเช้าก่อนเข้างานเขาจะมีรอยยิ้มทักทายเพื่อนร่วมงานอย่างมีความสุข แถมเป็นที่ปรึกษาชั้นดีแก่เพื่อนร่วมงาน

 

และนี้คือ หนึ่งตัวอย่างของการสร้างความสุขให้แก่สังคมอย่างยั่งยืน เพียงแค่เปิดโอกาส ผู้ได้รับโอกาสย่อมมีความสุขยิ่งกว่า ข้อดีของการให้โอกาสแก่ผู้พิการ เมื่อได้รับโอกาส เขาจะมีความมุ่งมั่นอย่างมาก คือมีความใจเย็น แก้ปัญหาด้วยความรอบคอบอย่างมีสติ อยากให้สังคมให้โอกาสแก่ผู้พิการ แล้วผู้พิการจะกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนสังคมได้อย่างมีพลัง หมอสิริชัย กล่าวอย่างมีความสุข

 

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube