EIA การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อใคร


การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม คืออะไร

           การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment ย่อว่า EIA) เป็นข้อกำหนดอยู่ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ให้โครงการพัฒนาทั้งของภาครัฐและเอกชนทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนจะดำเนินโครงการ

          การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม คือการประเมินผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสุขภาพหรือความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะมีผลต่อสภาพความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อธรรมชาติ ซึ่งบางครั้งอาจนำไปสู่ภัยพิบัติต่อสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาจนิยามได้ว่าเป็น "กระบวนการเพื่อการบ่งชี้ ทำนาย ประเมิน และบรรเทาผลกระทบทางชีวะกายภาพ สังคม และผลกระทบที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่มีต่อข้อเสนอโครงการพัฒนาใด ๆ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจให้ลงมือดำเนินการได้ วัตถุประสงค์ของการประเมินก็เพื่อให้เป็นหลักประกันได้ว่า ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจได้พิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบของโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนทำการอนุมัติให้ดำเนินโครงการที่มีผู้ขออนุญาตดำเนินการ

ขั้นตอนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

           ขั้นตอนที่ 1 การกลั่นกรองโครงการ (Screening) เพื่อพิจารณาว่าโครงการหรือกิจการนั้นๆต้องดำเนินการประเมินผลแบบใด มีความจำเป็นหรือไม่ในการดำเนินการประเมินผลกระทบ เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

          ขั้นตอนที่ 2 กำหนดขอบเขต (Scoping) เพื่อกำหนดขอบเขตและประเด็นสำคัญในการประเมินผลกระทบให้ถูกต้องครอบคลุม และชัดเจน เป็นการดำเนินการโดยใช้คำว่า “Public Hearing 1” เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ทรงคุณวุฒิตามรัศมีที่กฎหมายกำหนด

         ขั้นตอนที่ 3 การประเมินผลกระทบ (Assessing) เพื่อศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านต่างๆจากการดำเนินโครงการ เป็นการรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน ประเมินและจัดลำดับความสำคัญของผลกระทบ และกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบ

         ขั้นตอนที่ 4 การทบทวนร่างรายงาน (Review) เพื่อทบทวนร่างรายงานการประเมินผลกระทบโดยภาคส่วนต่างๆ เป็นการดำเนินการโดยใช้คำว่า “Public Hearing 2” เปิดรับฟังมาตรการลดผลกระทบ

         ขั้นตอนที่ 5 กระบวนการตัดสินใจ (Decision Making) เพื่อพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ดำเนินโครงการ พร้อมทั้งให้เหตุผลประกอบการพิจารณา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นผู้ตรวจรายงานเบื้องต้น หากเป็นกรณีโครงการของเอกชน คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เป็นผู้ให้ความเห็นต่อรายงาน และส่งไปยังรายงานไปยังหน่วยอนุมัติ หากเป็นโครงการของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจคณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา

         ขั้นตอนที่ 6 การติดตามและประเมินผล (Monitoring) เพื่อติดตามประเมินผลการดำเนินงานผลกระทบตามขอบเขต และประเด็นที่เป็นข้อห่วงกังวลจากการดำเนินโครงการในพื้นที่

ข้อสังเกต

        1.      ขอบเขตการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

                 การกำหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามกรอบกฎหมายนั้นกำหนดตามกำลังการผลิตของเครื่องจักร ซึ่งจะอยู่ในรัศมี 1-5 กิโลเมตรรอบพื้นที่โครงการ การกำหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว มีข้อท้วงติงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าเป็นขอบเขตที่มีขนาดเล็กแคบมากเกินไป เนื่องจากฝุ่นควันพิษฟุ้งกระจายไปได้ไกลแบบไม่มีขอบเขต หรือมลพิษจากน้ำเสียก็เช่นกัน เมื่อเกิดการรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะได้ก็จะไหลเวียนไปตลอดทั้งสายน้ำ ดังนั้นผู้ประกอบการโครงการ และบริษัทที่ปรึกษาที่ทำหน้าที่ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต้องคำนึงถึง และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนอกขอบเขตการศึกษา ได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีรับฟังความคิดเห็นด้วย รวมทั้งในระยะยาวเราจะปลดล็อคการกำหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย ซึ่งมีลักษณะตายตัว ไม่ยืดหยุ่นนี้ได้อย่างไร

        2.      เจ้าของโครงการกับบริษัทที่ปรึกษา

                 ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทที่ปรึกษาที่ทำหน้าที่ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม กับเจ้าของโครงการ อยู่ในฐานะผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง ประเด็นนี้ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียวิพากษ์วิจารณ์ถึงความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่นำเสนอในเวทีรับฟังความคิดเห็นนั้น มีความเป็นกลางและมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของส่วนร่วมมากน้อยอย่างไร ซึ่งมักจะถูกโจมตีจากฝ่ายคัดค้านไม่เห็นด้วยว่า “เป็นพวกเดียวกัน” มาโดยตลอด ข้อเขียน และคำชี้แจงเข้าข้างผู้ประกอบการโครงการ เพื่อให้รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมผ่านความเห็นชอบ ทั้งในเวทีรับฟังความคิดเห็น และการพิจารณาของคณะกรรมการมากกว่า การคำนึงถึงหลักการพัฒนาเศรษฐกิจความคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นเราจึงไม่เห็นการทำกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วม และกิจกรรมสร้างความเข้าใจในกิจการของโครงการอย่างแท้จริง ตรงกันข้ามกลับพยายามปกปิดข้อมูล ข้อเท็จจริงของโครงการ เนื่องจากเจ้าของโครงการเกรงว่าเปิดเผยข้อมูลไปแล้ว ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะไม่เห็นด้วย และนำไปใช้เป็นข้อมูลโจมตีโครงการ

        3.      วิธีการศึกษาและเก็บข้อมูล

                 บริษัทที่ปรึกษาที่ทำหน้าที่กำหนดกรอบ และจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มักจะอาศัยความชำนาญเชิงวิชาการที่ผ่านประสบการณ์การทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโครงการต่างๆ มาอย่างโชกโชน มาเป็นตัวกำหนดกรอบการศึกษาในโครงการที่รับผิดชอบใหม่ๆ และเก็บข้อมูลตามกรอบ โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิ และหลักการวิเคราะห์เชิงวิชาการเป็นหลัก ขาดการลงพื้นที่สัมผัสกับข้อเท็จจริงตามบริบทใหม่ๆ ของโครงการนั้นๆ การนำเสนอข้อมูลในเวทีรับฟังความคิดเห็นจึงไม่สามารถสร้างความเข้าใจแบบง่ายๆ ตรงประเด็นตามที่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ส่วนมากเป็นชาวบ้านต้องการได้ ในที่สุดเวทีรับฟังความคิดเห็นก็จบลงด้วยความคับข้องใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

        4.      การมีส่วนร่วมของประชาชน

                 ขั้นตอนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อนการดำเนินโครงการ กฎหมายบังคมให้เจ้าของโครงการ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนที่อยู่ในรัศมีที่ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น โดยยึดหลักการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับสังคมชุมชนได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามเจ้าของโครงการ มักจะไม่ค่อยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ขาดการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าให้กับประชาชน เช่นจัดประชุมชี้แจงกลุ่มย่อยรายหมู่บ้าน หรือพากลุ่มเป้าหมายไปศึกษาเรียนรู้ดูงานโครงการที่ทำสำเร็จแล้วเป็นต้น แต่มักจะใช้วิธีการแบบเดิมๆ กล่าวคือเข้าหาผู้มีบารมีในท้องถิ่นเพื่อให้ช่วยสนับสนุนงานโครงการเพราะเชื่อว่าผู้มีบารมีร่วมมือแล้วชาวบ้านก็จะไม่คัดค้าน บางแห่งก็ใช้วิธี “ผลประโยชน์ต่างตอบแทน” เจ้าของโครงการจะเข้าไปเสนองานกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นเพื่อให้ช่วยกำกับควบคุมไม่ให้ชาวบ้านคัดค้าน รวมทั้งใช้งบประมาณสนับสนุนข้าราชการ และผู้นำในท้องถิ่นแบบลับๆ ในยุคสมัยนี้ วิธีการเหล่านี้ไม่สามารถปิดบังการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ จึงยิ่งทำให้กระแสการคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์โครงการ และก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบกับผู้เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้นด้วย

         5.      ตรงไปตรงมาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

                  ความจริงถ้าโครงการปฏิบัติตามกรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัด ดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างตรงไปตรงมา เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตามสิทธิที่ควรมีควรเป็น เจ้าของโครงการมีความจริงใจที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่กับการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องปกปิดข้อมูล ไม่ต้องใช้วิธีการแบบเดิมๆ เชื่อว่าไม่มีใครปฏิเสธโครงการอุตสาหกรรม ไม่มีใครปฏิเสธการเติบโตทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าทุกคนทุกฝ่ายตรงการให้การเติบโตทางธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงเท่านั้น

วีระ นิจไตรรัตน์

15 ธันวาคม 2558

................................................................

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube