อุตสาหกรรมและชุมชนต้องอยู่ร่วมกัน


อุตสาหกรรมและชุมชนต้องอยู่ร่วมกัน

แนวนโยบายการพัฒนาประเทศไทยทุกยุคทุกสมัย ต่างเน้นให้ได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (gross domestic product ตัวย่อ GDP ) เพิ่มขึ้น มีการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และหาหนทางนำเงินตราต่างประเทศกลับเข้ามาพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายอย่างทั่วถึง แนวนโยบายดังกล่าวส่งผลให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมหลากหลายผลิตภัณฑ์ กระจายไปยังจังหวัดต่างๆเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

         กล่าวได้ว่าประเทศไทยได้เปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมที่มีทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่าไม้ อุดมสมบูรณ์ มีสิ่งแวดล้อมสวยงามน่าอยู่ “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” ภาพธรรมชาติที่สวยงามเหล่านั้น ได้ถูกแทนที่ด้วยเกษตรกรรมเคมี และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จนแถบจะไม่เหลือความเป็นธรรมชาติที่สวยงาม สิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ให้เราได้ชื่นชนกันต่อไปแล้ว หลายจังหวัดถูกประกาศให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม เช่น จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และอีกหลายจังหวัด

        กลิ่นเหม็น อากาศเป็นพิษ น้ำในลำคลองเน่าเสียใช้อุปโภคบริโภคต่อไปไม่ได้ เสียงดังจากเครื่องจักร ขยะล้นเมือง ขยะมีพิษถูกทิ้งกระจัดกระจายอยู่ในธรรมชาติ แรงงานต่างด้าว ประชากรแฝงปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้พบเห็นได้ทั่วไป ทั้งในจังหวัดที่ถูกประกาศให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม และในจังหวัดอื่นๆที่ไม่ถูกประกาศให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมก็มีปัญหาสิ่งแวดล้อมให้พบเห็นด้วย

       ปี 2535 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (พรบ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535) เพิ่มหน่วยงานภาครัฐ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีทั้งหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทย เช่น สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมมลพิษ เป็นต้น แต่ทั้งกฎหมายและหน่วยงานก็ยังไม่สามารถควบคุมและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นมากมายได้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทุกชนิด ต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ ต้องแรงงานจำนวนมาก ซึ่งเครื่องจักรเหล่านั้นต้องอาศัยน้ำ ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ เป็นจำนวนมาก และต้องปลดปล่อยของเสียออกสู่ธรรมชาติเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน และมีปริมาณมากเกินกว่าที่จะควบคุมได้ จึงทำให้เกิดมลภาวะปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ในอากาศ ในดิน และในธรรมชาติทั่วไป

      ประเทศไทยต้องพัฒนาให้ก้าวหน้า ทันสมัย ทัดเทียมนานาอารยประเทศต่อไป การพัฒนาอุตสาหกรรมจึงมีความสำคัญ เพราะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศมี GDP เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า ประเทศไทยจะรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่เหมือนเดิมโดยไม่เอาอุตสาหกรรมเลยไม่ได้แล้ว คงต้องยอมสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของประเทศบ้าง เพื่อแลกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ประเทศจะส่งเสริมอุตสาหกรรมโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเลยก็ไม่ได้ ดังนั้นการเติบโตของอุตสาหกรรมจึงต้องควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย กล่าวคือพัฒนาอุตสาหกรรม พร้อมกับพัฒนาชุมชนด้วย (CSR)

       แนวนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังนั้นจะทำให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมได้รับการยอมรับจากชุมชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ในพื้นที่รอบที่ตั้งโรงงานและร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้เข้มแข็งนั้น ต้องอาศัยทั้งตัวบทกฎหมาย หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ต้องอาศัยนักวิชาการสนับสนุนข้อมูลความรู้ และที่สำคัญที่สุดต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนในพื้นที่รอบโรงงานมีส่วนร่วมในภารกิจติดตามเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันด้วยความจริงใจ เปิดเผย โปร่งใสตรวจสอบได้

       แนวทางนี้เท่านั้นที่จะทำให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างสมดุล ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืนสืบไป

 

วีระ นิจไตรรัตน์

 

8 กันยายน 2558

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube