เก็บตกเสวนา : การทำงานร่วมกันแบบเครือข่าย 'เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ'


เมื่อวันที่ 2  ต.ค.58 กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ณ ศูนย์นิทรรศการและหอประชุมแห่งชาติไบเทค บางนา โดยมีได้การเสวนาย่อยเรื่อง 'การทำงานร่วมกันแบบเครือข่ายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ' มีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนจากพื้นที่นำร่องเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดระยอง ได้แก่ นายมนชัย รักสุจริต ผู้จัดการสมาคมเพื่อนชุมชน, นายสุทธิธรรม เลขวิวัฒน์ กลุ่มเพื่อนตะวันออก และนายชีพ เลื่อนลอย บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด ดำเนินรายการโดย ดร.สุนทร คุณชัยมัง ที่ปรึกษาโครงการ

ดร.สุนทร เริ่มต้นนำสนทนาด้วยคำถามว่า จะร่วมนิเวศกันอย่างไรจึงจะอยู่ร่วมกับชุมชนได้ เพราะงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไม่ได้ทำเฉพาะฝ่ายโรงงานเท่านั้น แต่จะต้องไปช่วยเหลือชาวบ้าน ซึ่งคำว่าช่วยเหลือไม่ได้มีความหมายง่ายๆ แต่หมายถึงการต้องทำร่วมอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเชิงนิเวศต้องไปเกี่ยวข้องสองข้าง คือทั้งภายในโรงงานและคนข้างนอก สาระสำคัญคือการทำงานเครือข่ายซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความสามารถเฉพาะของแต่ละฝ่าย เช่น โรงงานเอาความสามารถเฉพาะโรงงานมาดูแลชุมชน ชุมชนก็อาศัยความสามารถเฉพาะในการดูแลหรือมองย้อนไปในโรงงาน เป็นต้น

ดร.สุนทร ยังตั้งประเด็นไว้ด้วยว่า งานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไม่ใช้งานง่ายและเป็นงานยาว คิดว่าใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี ต้องไปเกี่ยวข้องกับงานทั้งระดับปฏิบัติการ บริหาร และเชิงนโยบาย มีความยุ่งยากในการจัดการบทบาทแยกกันไป  โดยต้องมีคน 4 ภาคส่วนที่ต้องมาร่วมกันจัดการ คือ รัฐ เมือง เอกชน และสังคม  

ด้าน นายสุทธิธรรม ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคประชาชนได้เริ่มต้นจากประสบการณ์ที่เคยไปใช้ชีวิต 20 ในสวีเดนโดยกล่าวว่า สวีเดนเป็นประเทศที่อาจกล่าวได้ว่ามีสวัสดิการดีที่สุดในโลกและพึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมทั้งหมด แต่คนกับอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้รวมทั้งเป็นประเทศที่สะอาดมาก ทั้งนี้ ในเรื่องการจัดการระบบอุตสาหกรรมเขาจะต้องถามประชาชนก่อนทุกอย่าง ซึ่งคนที่นั่นไม่ปฏิเสธที่จะมีอุตสาหกรรมแต่ตั้งเงื่อนไขกลับมา

"ผมไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมก็เป็นคณะกรรมการของกรรมกรที่นั่น แม้แต่การทาสีเขาต้องมาถามกรรมกรที่นั่น แต่บ้านเราเวลาทำอะไรไปต้องถามข้าราชการ ซึ่งความจริงแล้วการทำงานต้องถามคนที่อยู่ตรงนั้นว่าต้องการอย่างไร"

นายสุทธิธรรม ยังกล่าวต่อไปว่า เมื่อกลับมาเมืองไทย พบว่า ความแตกต่างจากสวีเดนที่คุยกันทุกเรื่องคือคนไทยไม่คุยกัน ไปไหนคนก็ทะเลาะกันถ้วนหน้าไม่ว่า ข้าราชการ อุตสาหกรรม ประชาชน ดังนั้น สังคมไทยวันนี้ถึงเวลาอยู่ร่วมกันต้องคุย ปรึกษาหารือ และพัฒนาให้ความเหลื่อมล้ำลดลง สังคมจึงจะไม่ทะเลาะเบาะแว้ง

ต่อมา นายสุทธิธรรมได้กล่าวถึงข้อเสนอ 'ระยอง : มหานครจัดการตนเอง' ซึ่งได้ทำการวิจัยร่วมกับสถาบันนิด้า โดยมีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนด้านงบประมาณว่า ผลการสำรวจพบว่า ระยองทรัพยากรมากมายไม่ว่าธรรมชาติหรือบุคคลและจะสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้ ไม่ว่าเรื่องมลพิษอุตสาหกรรม ประชากรแฝง ยาเสพติด หรือปัญหาสังคมต่างๆ แต่ปัญหาคือเงินภาษีที่จัดเก็บได้ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากของประเทศกลับไม่อยู่ที่ระยองแต่ไปอยู่ที่ส่วนกลาง ดังนั้น การแก้ปัญหาคือต้องกระจายอำนาจ ตั้งแต่สิทธิเลือกผู้นำ สิทธิการจัดตั้งองค์กรและผู้บริหารตนเอง สิทธิในการใช้ทรัพยากรต่างๆของตนเอง และเรื่องที่สำคัญที่สุดคือด้านการคลังซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้เสนอว่า คนระยองต้องได้งบประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของที่เก็บได้จากจังหวัดระยองมาจัดการตนเอง

ในช่วงท้าย นายสุทธิธรรม กล่าวว่า รัฐบาลช่วงนี้หรือนโยบายของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่เสนอเรื่องประชารัฐนั้นน่าสนใจว่าจะทำอย่างไร คือรัฐกับราษฎร์จะอยู่ร่วมกันอย่างไร ทุนที่มีอยู่จะกระจายไปฐานรากอย่างไร ซึ่งตนเห็นว่าจะทำได้มี 3 ทาง หนึ่งเสริมกระบวนชุมชนให้มีความรู้ จะสร้างองค์กร เวที โอกาสเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ สองพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่เชิงอำนาจ ประชาชนต้องเข้าไปในพื้นที่นี้ด้วยว่าจะเอาอย่างไร เพราะสังคมอยู่ด้วยกฎหมาย ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมซึ่งมีวิธีมากมายที่จะขยายอำนาจเข้าไปส่วนนี้ โดยไม่ใช่แค่การเลือกตั้งเท่านั้น และสุดท้ายคือพื้นที่ทางสังคม ต้องสื่อสาธารณะไปให้คนจำนวนมากได้รับรู้

ในฝั่งเอกชนในพื้นที่ นายชีพ กล่าวว่า ไออาร์พีซีในอดีตก็โดนต่อต้านและวิกฤติถึงขั้นโดนปิดโรงงานเป็นเวลา 3 วัน แม้ว่าจะใช้เครื่องมือของ CSR มาตลอด 3 ปี ก็ไปได้ไม่ดี กระทั่งกรมโรงงานได้มาประสานกับกับชุมชนเป็น 'ไตรภาคี' เกิดกระบวนการเป็นเครื่องมือที่เรียกว่า 'ประชาเสวนา' ตรงนี้สำคัญมาก มีการคุยกัน 3 ปี เรื่องปัญหา เรื่องแนวทางจะเดินกันอย่างไร สุดท้ายตกผลึกกันว่าต้องเป็น 'อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ'

"การทำให้เข้าใจอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็นเรื่องยาก แต่ Eco นั้นแปลว่าบ้าน ก็คือจะทำอย่างไรให้คนมาดูแลบ้าน ประเด็นสำคัญของการขับเคลื่อนคือการสร้างความตระหนัก คือรู้และเกิดความคิดรวบยอดร่วมกัน ซึ่งอุตสาหกรรมเชิงนิเวศก็คือบ้านและความยั่งยืนร่วมกัน การสร้างความตระหนักที่ประสบความสำเร็จก็คือการเอาข้อมูลและข้อเท็จจริงมาคุยกัน" นายชีพ กล่าว

ต่อมา นายมนชัย ได้กล่าวว่า สมาคมเพื่อนชุมชนคือการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ประกอบการในมาบตาพุด โดยมี 5 บริษัทเริ่มต้น เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือชุมชนต่างๆโดยรอบ และดูแลในส่วนของผู้ประกอบการที่ต้องทำบ้านของตนให้ดีด้วย จึงมีโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนที่เข้าไปช่วยกันดูแลโรงงานต่างๆ ปัจจุบันมีเครือข่ายผู้ประกอบการมาร่วมกับเพื่อนชุมชนมากขึ้น

สำหรับแผนในปีหน้า นายมนชัยกล่าวว่า นอกจากการทำงานแนวราบคือ งานเครือข่ายกับผู้ประกอบการและชุมชนจะยกระดับไปทำเครือข่ายแนวตั้งมากขึ้นคือ การทำงานกับผู้มีอำนาจในพื้นที่เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งระยองเป็น 1 ใน 5 จังหวัดนำร่อง เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มีผู้ว่าฯเป็นที่ปรึกษา และที่ผ่านมาได้รับคำแนะนำที่ดีว่าต้องมีพื้นที่ต้นแบบและขยายผล

สำหรับโจทย์ต่อไปของเพื่อนชุมชนคือการขับเคลื่อนเชิงสูงขึ้นและการกระจายรายได้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักถูกตั้งคำถามว่ายังทำได้ไม่เพียงพอ ตรงนี้จะเข้าไปดูแลร่วมกับภาครัฐ เพื่อดูแลวิสาหกิจชุมชน รวมไปถึงการให้องค์ความรู้และส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ รวมทั้งจับมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการทำงานตรงนี้ต่อ

ด้าน ดร.สุนทร กล่าวว่า  'เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ' อาจจะมาช้าหรืออะไรก็ตาม แต่คือทิศทางที่ย้อนกลับมาฟัง เป็นการเชื่อมต่อกับการร้องเรียนหรือกับชาวบ้าน เป็นนิมิตรหมายหรือรอยต่อระหว่างความต้องการ คาดหวัง ความรู้ สิ่งที่ไม่เคยได้รับการจัดการ และมันจะอยู่ภายใต้งานที่ทุกภาคส่วนต้องทำกันต่อไป

"ความเข้มแข็งของชุมชนหรือรากฐานประชากร ถ้ามีความรู้การเข้าใจ ติดตามความก้าวหน้าไปในทิศทางเดียวกันปัญหายากแค่ไหนก็จัดการได้ เราเห็นความอ่อนแอของชุมชนที่ต้องการบางสิ่งบางอย่าง ในขณะที่รัฐหรือเอกชนมีสิ่งเหล่านี้ แต่ผู้ต้องการก็ต้องเรียกร้องดังๆว่าสิ่งที่ให้มาอาจจะไม่ใช่ เราไม่ได้ต้องการปลา แต่เราต้องการคันเบ็ด

"งานทางด้านนี้มีแต่จะเบ่งบานขึ้นต่อไปข้างหน้า ไม่มีประเทศไหนให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้น้อยลงแม้แต่ประเทศที่จัดการได้ดีแล้ว เขาก็ยังต้องการที่จะจัดการความรู้ให้ดีให้สูงขึ้นไป รวมทั้งต้องการถ่ายทอดออกมาด้วย"  ดร.สุนทร กล่าวสรุปทิ้งท้าย

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube