Social Business โรงไฟฟ้าชุมชนบ้านคลองเรือ ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร


 

(ที่มารูป : อนุสาร อสท ธันวาคม 2555)

ความเป็นมา
          ชุมชนบ้านคลองเรือ มีผู้อาศัยจำนวน 89 ครัวเรือน เป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหม่อน มีพื้นที่ 10,625 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 7,242 ไร่ พื้นที่ทำกิน 1,508 ไร่ พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม 1,875 ไร่ ถือได้ว่าเป็นกรณีตัวอย่างของการจัดการต่อชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าที่มีความขัดแย้งกับทางราชการ เพราะพื้นที่เดิมมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ มีการบุกรุกป่าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและทำกินตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ประชาชนที่อยู่อาศัย มีการอพยพมาจากหลายพื้นที่และหลายระลอก พื้นที่ป่าต้นน้ำถูกบุกรุกทำลาย ในช่วง พ.ศ. 2528 - 2531 มีการบุกรุกป่าเพื่อใช้เพาะปลูก ตัดไม้เพื่อนำไปขาย ทั้งโดยคนในชุมชนและนายทุนจากภายนอก การป้องกันและปราบปรามของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะการสัญจรไปมาต้องใช้ม้าและการเดินด้วยเท้า
          พ.ศ. 2536 หน่วยจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ กรมป่าไม้ (ปัจจุบันคือ หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ พะโต๊ะ) จึงได้จัดให้มีโครงการ “คนอยู่-ป่ายัง” ขึ้น เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและป่าโดยชุมชนมีการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการวางแผนจัดการ แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่ห่างไกลทำให้การดูแลสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานโดยรัฐไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น ประปาหรือไฟฟ้า แม้ว่ารัฐบาลได้จัดหาระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มาให้ ทั้งการใช้ในครัวเรือนหรือกิจกรรมส่วนรวมของชุมชน แต่เมื่อใช้ไประยะหนึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวได้ชำรุดลงและไม่มีช่างซ่อม
          ต่อมาได้มีความร่วมมือกับคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยชีวิต ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขึ้นเพื่อใช้สำหรับชุมชน ซึ่งสร้างได้แล้วเสร็จและเปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นหนึ่งในโครงการของการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับภาครัฐ ระหว่างการบุกรุกกับการอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืนของชุมชน

การจัดองค์กร
          การรวมกลุ่มเป็นองค์กรของชุมชน เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบตามการดำเนินงานของ “คณะกรรมการโครงการคนอยู่ - ป่ายัง” ปัจจุบัน นายมนัส คล้ายรุ่ง ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานคณะกรรมการ และมีคณะกรรมการร่วมจำนวน 14 คน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ชุมชนร่วมกันบริหารจัดการตนเองทั้งด้านการจัดการชุมชนและทรัพยากร มีการประชุมทุกวันที่ 15 ของเดือน ณ เวทีชาวบ้าน บ้านคลองเรือ
          โรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนบ้านคลองเรือ เป็นโครงการการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ (ปี พ.ศ.2551 - 2554) โดยความร่วมมือระหว่างชุมชนกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยชีวิตนครศรีธรรมราช ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ได้รับฉันทานุมัติจากชุมชนตามกระบวนการจัดการตนเองดังกล่าว

การดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ
          1 .การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้การสนับสนุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาด 100 กิโลวัตต์พร้อมอุปกรณ์ประกอบ ติดตั้งที่น้ำตกเหวตาจันทร์ จัดสร้างระบบส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า  ไปยังหมู่บ้าน จำนวน 9,000,000 บาท พร้อมทั้งสนับสนุนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องจักรอุปกรณ์และให้คำแนะนำร่วมกับชุมชนระหว่างการก่อสร้าง
          2. การระดมทุนสนับสนุนจากชุมชน
          - ชาวคลองเรือได้ระดมทุนกันเองในหมู่บ้าน จำนวน 80,000 บาท รวมถึงการไปรับจ้าง หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ สร้างฝายต้นน้ำจำนวน 70 ฝาย ได้รับเงินจำนวน 350,000 บาท ซึ่งชาวบ้านได้นำเงินค่าแรงงานดังกล่าวไปสมทบการจัดทำระบบส่งไฟฟ้า - ซื้อเสาไฟฟ้า
          - การก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้า ฝาย และบ่อตะกอน ชุมชน จะร่วมกันจ่ายเงินเพื่อซื้อวัสดุและช่วยทำงานโดยไม่รับค่าแรงเป็นเงินสด แต่จะมีการบันทึกการทำงานไว้ และจะนำมาคำนวณเป็นมูลค่าหุ้นโรงไฟฟ้า ซึ่งจะคิดค่าแรงเท่ากับ 200 บาทต่อคนต่อวัน เพื่อร่วมแสดงความเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า (ใครไม่มาร่วมงานก็จะไม่ใช่เจ้าของ)
          3. โรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนบ้านคลองเรือ เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ พ.ศ. 2555 เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศ (Off - Grid) การบริหารโรงไฟฟ้าอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการฯ ในแต่ละเดือนจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับชุมชนประมาณ 12,000 - 14,000 บาทต่อเดือน โดย 30% จะนำไปใช้จ่ายสำหรับผู้เก็บค่าไฟฟ้า 70% จะเก็บรักษาไว้เป็นเงินกองทุนในการบำรุงรักษา
          นอกจากการร่วมกันสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ฝาย สายส่งและระบบส่งไฟฟ้าดังกล่าวแล้ว  การรวมตัวกันของชุมชนคลองเรือ ยังเป็นกระบวนการสำคัญในการดูแลพื้นที่ต้นน้ำ ยังมีการดำเนินกิจกรรมในโครงการการเกษตร 4 ชั้น ตามระดับของลักษณะพื้นที่ มีการสำรวจทรัพยากรเพื่อเตรียมการท่องเที่ยวชุมชน มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ กองทุนข้าวสาร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน การจัดสร้างโรงผลิตน้ำ  ดื่มบรรจุขวด โรงผลิตน้ำแข็ง และมีแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โดยการสร้างโรงผลิตน้ำมันปาล์ม โรงอบหมาก ซึ่งเป็นการสร้างงานในชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเป็นต้นแบบของหมู่บ้านอื่นๆ

ผลลัพธ์
          ในระดับชุมชน โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนบ้านคลองเรือ ถือได้ว่าเป็นสาธารณูปการที่ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล (อยู่นอกระบบส่งไฟฟ้าของ การไฟฟ้าภูมิภาค) และเป็นกลไกหนึ่งของการจัดการป่าของภาครัฐ ในการจำกัดการขยายตัวของชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างยั่งยืน
          ในขณะเดียวกัน ผลการดำเนินงานในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนบ้านคลองเรือ ทำให้ กฟผ. ได้รับรางวัลชนะเลิศ Thailand Energy Awards 2013 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ASEAN Energy Awards 2013 และรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ปี พ.ศ.2556
          อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของ กฟผ. ที่สนับสนุนเครื่องจักรอุปกรณ์ งบประมาณระบบส่งไฟฟ้า และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญมาร่วมในการดำเนินงานนี้ ในเบื้องต้นถือได้ว่าเป็นการดำเนินงานตามรูปแบบของ Strategic Philanthropy ที่จะร่วมจัดการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าของชุมชน/กลไกของรัฐในการจัดการความขัดแย้ง พร้อมกันนั้น ชุมชนได้สะท้อนความร่วมมือจากการระดมทุน ระดมแรงงานตามความสามารถที่เข้มแข็งของชุมชน ยิ่งไปกว่านั้น กิจการของโรงไฟฟ้าที่เกิดจากทุนทั้ง 2 ส่วน สามารถจัดการให้บริการต่อชุมชนได้ มีรายได้จากการขายไฟฟ้าที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายและการบำรุงรักษา เป็นไปตามหลักการของ Non loss non dividend ของ Social Business ที่ มูฮัมหมัด ยูนูส อธิบายไว้

.............................
6 กรกฎาคม 2559

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube