ครัวเรือนริมคลอง มายาคติผู้ร้ายทำลายสายน้ำ


 

เรื่องและภาพ-นภัทร พิลึกนา

      ชุมชนแออัดริมคลองอาจไม่ใช่ภาพที่ชวนดูนัก และอาจมีคำถามว่าเอาชุมชนแน่นๆ ริมคลองเหล่านั้นออกไปก็น่าจะดีไม่ใช่หรือ? และหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ชุมชนริมคลองกลายเป็นผู้ร้ายคือ ปัญหาน้ำเสียจากครัวเรือนริมคลอง ซึ่งแท้จริงแล้วอาจเกิดจากระบบบำบัดน้ำเสียของภาครัฐที่ไม่ได้มาตรฐาน  

-1-

      “ถึงไม่มีชุมชน น้ำในคลองก็ไม่สะอาดไปกว่านี้” -เห็นน้ำสีดำในคลอง ภาพจำเลยมักลอยผุดขึ้นมาโดยมิต้องไต่สวน ก็พวกคนที่อยู่ริมคลองนั่นไงทำให้น้ำเน่าเสีย ไม่ผิด แต่ไม่ถูกทั้งหมด นี้คงเป็นความเชื่อผิดๆ ที่ถูกโปรแกรมกันมานาน ชวนไปรับฟังคนริมคลองและทำความเข้าใจเบื้องต้นกับระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของกรุงเทพฯ ไม่มีใครหรอกที่อยากให้หน้าบ้านหรือหลังบ้านตัวเองสกปรก-

เวลานั่งเรือแสนแสบ ฉันชอบมองดูแม่น้ำไปเรื่อยๆ แล้วมักคิดว่าหากไม่มีชุมชนตั้งอยู่ริมน้ำ น้ำในลำคลองคงสะอาดกว่านี้ วันนี้ เมื่อได้เดินทางมาพูดคุยกับชาวบ้านชุมชนริมคลองลาดพร้าว 46 ฉันจึงได้ถามคำถามคาใจว่า ชุมชนริมคลองมีวิธีจัดการขยะกันอย่างไร

      “เราพูดคุยกันอยู่เสมอว่าให้ขนขยะออกไปวางไว้หน้าชุมชน เพราะจะมีรถเก็บขยะของเทศบาลมาเก็บ ถ้าไม่ขนออกไป เขาก็ไม่มาเก็บเพราะรถเข้าไปไม่ถึง พวกเราส่วนใหญ่ก็ทำอย่างนั้นคือขนออกไปข้างนอก” พี่กบ-ชวนชม นาคเทียม คณะกรรมการชุมชนฝ่ายประชาสัมพันธ์ตอบอย่างตรงไปตรงมา

      “รถเทศบาลมาเก็บขยะบ่อยมั้ยคะ” ฉันถามต่อ

      “ก็สามสี่วันมาครั้งหนึ่ง บางทีก็อาทิตย์หนึ่งมาเก็บทีหนึ่ง หรือพอเราเห็นขยะกองหน้าชุมชนเยอะๆ เราจะโทรตามเขา เราเสียเงินค่าเก็บขยะบ้านละ 240 ต่อปีเรามีสิทธิ์โทรตามเขานี่”

      “บางคนอาจคิดว่า ถ้าไม่มีชุมชนอยู่ริมคลอง น้ำในคลองคงดีกว่านี้”

      “เราอยู่มานานมาแล้ว บางคนอยู่มา 50 ปี นี่คือคลองหน้าบ้านเราเหมือนกัน ไม่มีใครอยากให้สกปรกเพราะเราก็อยู่กันตรงนี้ เราก็ช่วยๆ กันดู พี่เลยคิดว่าถึงไม่มีชุมชน น้ำในคลองก็ไม่สะอาดไปกว่านี้หรอก”

-2-

อีกสามสี่วันต่อมา ฉันมีโอกาสได้นั่งคุยกับ ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงไถ่ถามอาจารย์ถึงปัญหาน้ำเน่าเสียในลำคลองของกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ให้ความรู้ว่า

ปัญหาน้ำในคลองเน่าเสียในกรุงเทพเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ อย่างแรกคือ เราไม่มีระบบการติดตามตรวจสอบที่เข้มงวดทำให้น้ำเสียทั้งหมดเข้าสู่ระบบบำบัดเพียงร้อยละ 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีกร้อยละ 60 ก็ลงคลอง ลงแม่น้ำ สาเหตุที่ 2 มาจากปัญหาของระบบท่อที่ไม่สามารถส่งน้ำเสียเข้าสู่โรงบำบัดได้อย่างเป็นระบบ สาเหตุอย่างอื่นที่สำคัญไม่แพ้กันคือ กรุงเทพฯ เรายังขาดการวางท่อที่แยกน้ำฝนออกจากน้ำเสีย ทำให้น้ำเสียมีมากเกินจริง ซึ่งยิ่งซ้ำเติมปัญหาโรงบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพฯ ที่มีศักยภาพจำกัดอยู่แล้ว ส่วนน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดจนได้มาตรฐานแล้ว เราก็ไม่มีการสนับสนุนให้นำไปใช้ต่อยอด ซึ่งในต่างประเทศเขาพัฒนาเรื่องนี้จนนำไปทำน้ำดื่มได้เลย

      “ถ้าอย่างนั้น น้ำเสียที่บำบัดแล้วไปอยู่ที่ไหนคะ” ฉันถามอาจารย์

      “มันก็ถูกปล่อยออกมาในลำคลองและปะปนกับน้ำเสียตามเดิม” อาจารย์ไม่ได้ตอบ แต่ลูกศิษย์ของอาจารย์ที่ทำวิจัยเรื่องนี้เป็นคนตอบ

หากมองถึงปัญหาน้ำเน่าเสียแล้วพูดกันให้เห็นสาเหตุเชิงโครงสร้างแบบนี้ คงจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าการกล่าวโทษกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างที่เราเคยทำกันมา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่

เฟสบุค Khon-Kool-Klong 

https://www.facebook.com/KhonKoolKlong

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube