ว๊าว......ว๊าว... เมืองนนท์ฯ 4.0


“ไทยแลนด์ 4.0” ได้ยินคำนี้มาเกือบปี ไปมาหลายเวที พี่น้องประชาชนหรือแม้แต่หน่วยงานราชการบางพื้นที่ก็ยังส่ายหัว เพราะอะไรคือเหตุที่คนยังไม่เข้าใจ อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าเป็นเพราะ  ไทยแลนด์ 4.0 ยังเป็นนามธรรมอยู่ในอากาศ  ยังเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ บ้างก็ถกเถียงกันว่าประเทศไทย อาจจะยังไม่ไปถึงจุดนั้น ตราบใดที่ยังแก้ปัญหาด้วยอำนาจ เอะอะก็เรียกร้อง ม.44 ให้นายกฯลุงตู่จัดการอยู่

แต่!!!!  สำหรับที่นี่ ที่เมืองนนท์ฯ จังหวัดนนทบุรี อาจเป็นหัวขบวนที่พาไทยแลนด์ สู่ 4.0 ก็เป็นได้ เพราะทั้งหน่วยงานราชการและภาคประชาชน ต่างเรียนรู้ไปร่วมกัน ต่างมีจุดหมายยกระดับตัวเองสู่ “นนทบุรี 4.0” มาทำความรู้จักโมเดล 4.0 ของเมืองนนท์ฯ ไปพร้อมๆกันครับ   

เมื่อวันที  7  มีนาคม 2560  ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์ “การประชุมรับฟังความคิดเห็น (Water Forum)[1] ครั้งที่ 1 จังหวัดนนทบุรี โดยท่านนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี  ในปี 2560 ได้บอกยุทธศาสตร์ในการพัฒนาจังหวัดนนทบุรีว่า  “จังหวัดสะอาด  จังหวัดสะดวก จังหวัดปลอดภัย จังหวัดอุตสาหกรรม 4.0” หากแต่ว่า ท่านมอบนโนบาย “นนทบุรี 4.0” ไปเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559 ไปแล้ว แต่เรามาตอกย้ำกันอีกทีดีกว่าไหม? 

จังหวัดสะอาด ได้แก่ มีความร่วมมือในการจัดการปัญหาเรื่อง ขยะ อย่างครบวงจรตั้งแต่การคัดแยกขยะ การบริหารจัดการขยะที่ถูกหลักอนามัย เพราะว่ามีวิสัยทัศน์ว่า การก้าวข้ามการยอมรับนวัตกรรมใหม่ๆ กล้าหรือไม่ จะต้องเป็นกลาง มีเทคนิค  มีวิทยาการสมัยใหม่ ที่น่าเชื่อถือได้ รวมไปถึงการการลดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย มีรายได้ภาษีจากการลดภาวะก๊าซเรือนกระจก การขับเคลื่อนโครงการประหยัดพลังงาน เป็นต้น

จังหวัดสะดวก  มีการจราจรที่ได้รับการปรับปรุงและแก้ไขอย่างดีทั้งทางบกและทางน้ำ เพื่อรองรับในการเป็นเมืองอุตสาหกรรม มีแหล่งน้ำ และระบบชลประทานที่ดี รวมถึงการเป็นจังหวัดที่ทำโครงการนำร่องในเรื่องของการจราจร เตรียมการรองรับรถไฟฟ้าสายสีม่วง  สาธารณสุข และการศึกษา

จังหวัดปลอดภัย การสร้างระบบความปลอดภัยให้กับชาวบ้าน ได้แก่ การติดตั้งกล้อง CCTV  โครงการส่องสว่างตามถนน ตรอกซอยต่างๆ ที่เป็นจุดเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรม เพื่อให้เพิ่มช่องทางในความปลอดภัยให้กับชาวบ้านอุ่นใจ การดูแลความสงบสุขในเชิงรุกพื้นที่และชุมชน  

              

จังหวัดอุตสาหกรรม 4.0  มีโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่มีระบบการจัดการเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรม ที่เป็นเมืองแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งระบบโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่จำเป็น การสร้างระบบการจัดการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การขับเคลื่อนโครงการที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ ของประชาชน เช่น เตาเผาขยะขนาดใหญ่ การจัดการน้ำเสียในหมู่บ้านจัดสรร พัฒนาระบบการระบายน้ำเสีย และน้ำท่วมขัง   เหล่านี้เป็นต้น

โดยบูรณาการความร่วมมือจากข้าราชการทุกหน่วยงาน องค์กร ภาคเอกชน และภาคประชาชน ด้วยความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดให้บรรลุตามเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมและสอดคล้องตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล

   

ในเวทีวันนี้ทางท่านผู้ว่าฯ ได้เสนอข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเป็นเครื่องปรุงให้ลองหาหนทางพิจารณาร่วมกัน  ได้แก่

  1. การจัดระบบผังเมืองใหม่ เนื่องจากการพัฒนาเรื่องอสังหาริมทรัพย์อยู่ตลอดเวลา รวมทั้งมีการ Revert ตลอด ทำให้เกิดความขัดแย้งกันในพื้นที่ จึงต้องให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเข้ามาร่วมกัน จึงเกิดความสำเร็จในเรื่องนี้ได้
  2. จุดแข็งของนนทบุรี คือ เป็นเขตของชลประทานเต็มพื้นที่ มีน้ำในพื้นที่ตลอด แต่ที่เป็นปัญหา คือ การจัดการน้ำ ในภาคการเกษตร
  3. ชาวสวนมีจำนวนมาก เกิดปัญหาค่าความเค็มของน้ำ คือ ปัญหาการใช้น้ำและการบริหารจัดการ

 ปัญหาเกี่ยวกับน้ำเสียที่ในจังหวัดนนทบุรี โดยท่านผู้ว่าฯ ได้บอกที่มาของน้ำเสียมาจากที่ไหนบ้าง

  1. น้ำเสียภาคครัวเรือน เนื่องจากวิถีชาวบ้านส่วนใหญ่ใกล้น้ำหรือวิถีริมคลองดั้งเดิม
  2. น้ำเสียจากบ้านจัดสรร มีจำนวน 1,322 หมู่บ้าน
  3. น้ำเสียจากอาคารชุด จำนวน 900 กว่า แห่ง

ปัจจุบันจังหวัดนนทบุรีกำลังจะมีการพิจารณาในการขออนุญาตสร้างคอนโดมิเนียม อีกจำนวน 397 แห่ง น่าจะมียูนิตไม่น้อยกว่า 5,000 ยูนิต ซึ่งในทางจังหวัดจะต้องเป็นคณะกรรมการในการพิจารณารายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โดยจะเน้นเรื่อง การบำบัดน้ำเสีย การบริหารจัดการขยะ ที่จอดรถ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องเป็นกฎหมาย โดยใช้หลัก 3R.

ทั้งนี้ท่านผู้ว่าฯ ยังได้ให้ข้อคิดในการทำงานว่า อย่า! Just study! Just research!

เอ๊ะ!  เอ๊ะ!  หากมองให้ดี ผมลองมองกระบวนการทำงานพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขปัญหา ตามหลักวิชาการในด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม พบว่า ในกระบวนการบำบัดน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรมและการคัดแยกขยะใช้หลัก 3R ได้แก่ Reuse  Reduce and Recycle   เท่านี้ก็!!!  มาถูกทางแล้วครับ

บอกได้ว่า สุดยอดจริง ๆ ครับท่าน การสนองตอบนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะเห็นได้จาก การร่วมมือของทุกองค์กรในพื้นที่ไม่ว่า จะเป็นความพร้อมของภาคธุรกิจหรือภาคเอกชนเพื่อรองรับการพัฒนา ภาคประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนา  รวมทั้งหน่วยงานท้องที่ประสานแรงร่วมมือกันพัฒนาอย่างเต็มที่ ที่สำคัญมีพ่อเมืองที่เป็นหลักพัฒนาให้เดินควบคู่ไปกับรัฐบาลอย่างไปด้วยเต็มที่ครับผม

เล่ามาถึงจุดนี้ นึกถึงสุภาษิตไทยขึ้นมาทีเดียว

“หัวไม่ส่ายหางไม่กระดิก...” แต่สำหรับเมืองนนท์ฯ ส่ายทั้งจังหวัด ขยับทั้งองคาพยพ

แหม๋...แน่นอนเชียว “นนทบุรี 4.0”

คงไม่สงวนลิขสิทธิ์ สำหรับพื้นที่อื่นๆ นำไปถอดบทเรียนนะจ๊ะ...นะจ๊ะ...

 

ครับ .....ผมไม้เอก   ปักธงชัย  รายงาน




[1] เป็นโครงการศึกษาและจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำ สำหรับภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการและมีส่วนร่วม  หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีพื้นที่นำร่องจำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี กาญจนบุรี สระบุรี ลพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี และชัยนาท มีวัตถุประสงค์ เพื่อการศึกษา ข้อมูลสถานการณ์การใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรม แหล่งน้ำ ผิวดิน แหล่งน้ำบาดาล รวมทั้งความต้องการในการใช้นำในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อนำมาจัดทำแผนบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube