สื่อเปลี่ยนทาง สายน้ำเปลี่ยนทิศ !!!


เมื่อ “พลอยแกมเพชร” ประกาศปิดตัวลง หลังจากเดินทางมายาวนานกว่า 25  ปี  

ตลอดระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา  คนที่อยู่ในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ คงอดใจหายไม่ได้กับการจากไปของนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับ  ไม่ว่าจะเป็น  สกุลไทย  อิมเมจ  หรือแม้แต่หนังสือพิมพ์บ้านเมืองที่จะปิดตัวลงในวันใหม่ของปี 60 ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการบริโภคสื่อ  คงไม่ต่างอะไรกับแม่น้ำที่เปลี่ยนสายและส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ใช้แม่น้ำสายเดิม

(ข้อมูลจาก http://themomentum.co/)

การบรรยายในหัวข้อ “Public Communication และการสื่อสารเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0” โดย ดร. สุนทร คุณชัยมัง  ประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ  เริ่มต้นขึ้นด้วยคำถามที่ว่า การปิดตัวของสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคปัจจุบัน  ทุกท่านคิดว่าเกี่ยวข้องอะไรกับงานพีอาร์   ผู้ร่วมบรรยายส่วนใหญ่ให้คำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า  เกี่ยวข้องเนื่องจากช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในยุคที่โทรศัพท์เข้ามาเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตประจำวัน  ส่งผลให้คนที่ทำงานพีอาร์ต้องมีการปรับตัวตามพฤติกรรมทางสังคมที่เปลี่ยนไป

ภายใต้บรรยากาศความซบเซาของ สิ่งพิมพ์และสื่อมวลชน (Mass Media)  กลับกลายเป็นความคึกคักของแวดวงสำนักข่าวออนไลน์ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในแง่ของผู้ชมและคาดว่าในอนาคตโฆษณาเองจะเพิ่มมากขึ้น  บทความเรื่อง “วงการข่าวกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างไร กับ 6 สำนักข่าวออนไลน์ไทยที่เราคิดว่าเจ๋ง”[1]  ของ The Matter ได้อธิบายถึงบุคลิกและลักษณะเฉพาะตัวของสำนักข่าวออนไลน์ยุคใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งก็มีหลายสำนักที่มีคนทำงานซึ่งไม่ได้มาจากแวดวงสื่อสารมวลชน  มาถึงตรงนี้ผู้บรรยายได้ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสพข่าวสารเหล่านี้  ทำให้ผู้บริโภคเป็นผู้ที่สามารถเลือกกำหนดข้อมูลข่าวสารได้ด้วยตนเอง  โดยที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสื่อมวลชนและ TOR แล้ว ดังนั้นความสามารถของสื่อมวลชนหรือผลโพลต่างๆ ก็จะลดน้อยลง  ในขณะที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร อาศัยสื่อมวลชน (Mass Media)  เป็นแม่น้ำสายหลักในการนำเสนอข่าวสาร เป็นเวลาเดียวกับที่ชาวบ้านอาศัยข้อมูลจากสื่อสาธารณะเป็นแม่น้ำหลัก  ขณะที่สื่อมวลชน (Mass Media) กลายมาเป็นแม่น้ำสายรองในการบริโภคข้อมูล

นั่นหมายความว่า กระบวนการสื่อสารของฝ่ายสื่อสารองค์กรจะต้องสะดุดลง เนื่องจาก ช่องทางการสื่อสารที่เล็กลง และปริมาณการไหลของข้อมูลข่าวสารที่ไม่เท่ากัน  ภายใต้แม่น้ำหลักที่เป็นสื่อสาธารณะ  “องค์กร” ก็เป็นแค่เพียงสมาชิกหรือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อมูลที่มีการสนทนาเท่านั้น  การแสดงออกทางสังคมและมวลชนจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่จำเป็นต้องมีแกนนำ  โดยคำนึงถึงความชอบธรรมเป็นสำคัญ ส่งผลให้การลงโทษทางสังคมสร้างผลกดดันต่อเนื่องไปยังการลงโทษทางกฎหมายและธุรกิจ เพื่อรักษาปทัสถานทางสังคมไปพร้อมๆ กัน  

เมื่อข้อมูลที่แสดงออกมาผ่าน สื่อมวลชน (Mass Media) ไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราว อารมณ์ และความรู้สึกร่วมของคนในสังคมได้เท่ากับ  สื่อสาธารณะ  จึงเป็นการบ้านกองโตที่ฝ่ายสื่อสารองค์กรต้องทำ  ไม่ว่าจะเป็นการถอดรื้อประสบการณ์การทำงาน  การการวิเคราะห์กระบวนการทางสังคมเพื่อพัฒนางานสื่อสารองค์กร ไปจนถึงการสร้างเครือข่ายนักปฏิบัติการ ชุมชนออนไลน์ เพื่อขยับตัวให้เท่าทันกับการเข้าสู่ยุคเว็บไซต์ 4.0

ท้ายที่สุด ดร. สุนทร ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ รูปแบบการทำงานของฝ่ายสื่อสารองค์กร  โดยต้องเริ่มจากระดับผู้บริหารองค์กร จะต้องเข้าใจต่อ มิติการรับรู้ของสังคมที่เปลี่ยนไปจากเดิม  จึงควรที่จะมีการจัดสัมมนาเรื่องของการสื่อสารและพัฒนาการของอินเตอร์เน็ตกับสังคมให้มากขึ้น  ในส่วนของการสื่อสารผ่านสื่อมวลชน (Mass Media) ก็เป็นสิ่งที่ยังจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป แม้ว่าความสำคัญส่วนนี้อาจจะลดลง ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างกิจกรรมหรือการสัมมนาที่มาจากงานด้านสื่อสารองค์กร  เช่นเดียวกับการขยายงานด้านงานวิจัยและการสร้างเครือข่ายสถาบันเพื่อพัฒนางานร่วมกัน โดยอาศัยแนวร่วมทั้งจาก ภาคเอกชน มหาวิทยาลัยและ NPOs ต่างๆ  สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนางานในด้าน โซเชี่ยล มีเดีย ให้เว็บไซต์เป็นช่องทางในการดึงคนเข้ามาดูข้อมูล  การพัฒนาบุคลากรในด้านเว็บไซต์และงานโปรดักชั่นต่างๆ รวมไปถึงการเพิ่มพื้นที่สื่อสารผ่านยูทูป เพื่อใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นการเข้าดูข้อมูลให้เพิ่มมากขึ้น

เมื่อแม่น้ำสายเดิมไหลเปลี่ยนทิศ  จนเกิดเป็นแม่น้ำสายใหม่ ก็คงไม่ต่างกับการไหลเวียนเปลี่ยนทิศของการสื่อสารเมื่อแม่น้ำสายเดิมไหลเปลี่ยนทิศ  สิ่งมีชีวิตที่ชื่อว่าสื่อก็จำเป็นต้องปรับทิศทางของตัวเองให้ทัน        

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube